บทความพลังงาน

การผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากปิโตรเลียม 
[ ตอบกระทู้นี้เพิ่ม คลิกที่นี่ ]

การผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากปิโตรเลียม

 น้ำมันดิบที่ผ่านการคัดเลือก จะถูกส่งเข้าสู่หอกลั่นบรรยากาศ เพื่อแยกเอาส่วนเบาที่เป็นเชื้อเพลิง (ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน เบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซล) ออกก่อนแล้วจึงถูกส่งมากลั่น ต่อในหอกลั่นสูญญากาศ ส่วนของน้ำมันหล่อลื่นจะถูกกลั่นแยกออกมาด้านข้างหอมีทั้งความหนืดต่ำ ความหนืดปานกลาง และความหนืดสูง ซึ่งจะต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพอีก 3 ขั้นตอนคือ
1. การสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction) โดยกำจัดสารที่ไม่อิ่มตัวจำพวกอะโรเมติก กำมะถันสารประกอบไนโตรเจน ด้วยตัวทำละลายเพื่อปรับปรุงให้มีดัชนีความหนืดสูงขึ้น สีคงตัวดี และรวมตัวกับออกซิเจนได้ยาก
2. การเติมไฮโดรเจน (Hydrofining) เพื่อทำละลายหรือแปรรูปสารประกอบกำมะถัน ไนโตรเจน กรด และไฮโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัวทำให้น้ำมันพื้นฐานมีความต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจนสูง ไม่สลายตัวง่าย ไม่เกิดยางเหนียวมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
3. การแยกไข (Dewaxing) เพื่อให้มีจุดไหลเทต่ำลงสามารถใช้งานที่สภาพอุณหภูมิต่ำๆ ได้ดี
 จะได้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่บริสุทธิ์ คุณภาพสูงมีชื่อ เรียกว่า Solvent Neutral (SN) มีความหนืดเป็นเบอร์ต่างๆ เช่น SN150, SN 500 และ SN 600 ซึ่งเหมาะสำหรับทำน้ำมันหล่อลื่นประเภทต่างๆ
 ส่วนหนักและข้นของน้ำมันที่ก้นหอกลั่นสูญญากาศจะถูกนำไปแยกเอายางมะตอยออก (Deasphalting) แล้วผ่านการปรับปรุงคุณภาพอีก 3 ขั้นตอน ที่กล่าวมาแล้วก็จะได้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานบริสุทธิ์ที่ข้นมาก มีชื่อเรียกว่า Bright Stock (BS) เช่น BS 150 ซึ่งเหมาะสำหรับทำน้ำมันเกียร์
ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์หล่อลื่น (Lubricants)
 ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น คือ สารหล่อลื่นที่เข้าไปแทรกเป็นฟิล์มหรือเยื่ออยู่ระหว่างผิวโลหะที่เสียดสีกัน เพื่อลดความฝืดและลดการสึกหรอให้มากที่สุด
 สารหล่อลื่นที่เป็นของเหลว เรียกว่า น้ำมันหล่อลื่น (Lubrication Oils or Lube Oils) เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันไฮดรอลิค เป็นต้น
 สารหล่อลื่นที่มีลักษณะกึ่งเหลว กึ่งแข็ง เรียกว่าจาระบี (Grease) ใช้หล่อลื่นในจุดที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำมันไว้ได้ เช่น ตลับ ลูกปืน ล้อ ลูกหมาก บุชเพลาหรือหูแหนบ แบริ่งลูกปืนบางชนิด เป็นต้น

น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมี 3 ประเภทคือ
1. น้ำมันพื้นฐานจากปิโตรเลียม (Petroleum Base Oils) ใช้กันมากที่สุดเพราะหาง่าย นอกจากคุณภาพดีแล้วราคายังถูกด้วย
2. น้ำมันพื้นฐานสังเคราะห์ (Synthetic Base Oils) เป็นน้ำมันที่สังเคราะห์ขึ้นโดยกระบวนการทางเคมี น้ำมันสังเคราะห์ ที่ใช้กันอยู่มีหลายชนิดแต่ราคาค่อนข้างสูง มักจะใช้กับงานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ เช่น งานในอุณหภูมิสูงมากๆ หรืออุณหภูมิต่ำมากๆ เช่นในประเทศเมืองหนาว เพราะน้ำมันสังเคราะห์จะมีดัชนีความหนืดสูงมาก จะมีความคงตัวในอุณหภูมิสูงๆ ได้ดี ไม่เสื่อมสลายง่าย และมีการระเหยต่ำมาก เป็นต้น ปัจจุบันเริ่มมีความนิยมในการใช้น้ำมันเครื่องที่ผลิตจากน้ำมันพื้นฐานสังเคราะห์มากขึ้นแต่ก็มีราคาสูงกว่าน้ำมันเครื่องที่ผลิตจากน้ำมันพื้นฐานปิโตรเลียมอยู่มาก
3. น้ำมันพืช/สัตว์ในสมัยก่อนมีการใช้งานหลายอย่างและเนื่องจากมีความคงตัวต่ำเสื่อมสลายง่ายขณะใช้งานจึงต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ทำให้มีราคาสูงมากขึ้นจึงไม่เป็นที่นิยม น้ำมันที่คุ้นเคย ได้แก่ น้ำมันละหุ่ง น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันปลา ซึ่งปัจจุบันใช้เฉพาะในงานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษบางประการ เช่น ใช้เป็นตัวเพิ่มคุณภาพให้กับน้ำมันจากปิโตรเลียม เช่น เพิ่มความลื่น เพิ่มความสามารถของน้ำมันในการรวมตัวกับน้ำ (เช่น น้ำมันหล่อเย็นปากเครื่องมือของเครื่องกลึง) เป็นต้น
น้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานยนต์
น้ำมันเครื่อง (Engine or Crankcase Oils)
ยานยนต์ทั้งหลายที่แล่นได้ต้องอาศัยเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแต่น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องมีการหล่อลื่นส่วนต่างๆ เช่นในเครื่องยนต์ เกียร์ และเฟืองท้าย ฯลฯ จึงจะใช้งานได้ชิ้นส่วนต่างๆ ของยานยนต์ที่เคลื่อนไหวเสียดสีกัน เกิดแรงเสียดทาน หรือความฝืด สารหล่อลื่นจะเข้าไปแทรกระหว่างผิวของโลหะที่ขัดสีกันเพื่อลดความเสียดทานนี้ หากไม่มีการหล่อลื่น นอกจากจะเกิดการสึกหรอแล้ว อุณหภูมิสูงที่เกิดจากแรงเสียดทานอาจทำให้ผิวโลหะเชื่อมติดกัน เป็นเนื้อเดียวได้นั่นคือ ความเสียหายของเครื่องจักร เครื่องยนต์
บางส่วนในยานยนต์ เช่น ลูกปืนล้อเราไม่สามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นได้ในกรณีนี้เราใช้จาระบี
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้อย่างไร
น้ำมันเครื่องจากอ่างถูกส่งภายใต้แรงดันของปั๊ม ผ่านไส้กรองไปยังท่อรวมใหญ่ แล้วไหลผ่านรูที่เจาะไว้ไปยังเมนแบริ่งและแบริ่ง เพลา ลูกเบี้ยว ในกรณีที่ไส้กรองอุดตัน น้ำมันจะไหลผ่านลิ้นบายพาสได้จากเมนแบริ่ง น้ำมันเครื่องจะไหลผ่านรูในเพลาข้อเหวี่ยงไปยังก้านสูบ ซึ่งมีรูให้น้ำมันไหลไปยังแบริ่งก้านสูบและสลักลูกสูบอีกต่อหนึ่ง เพื่อเข้าไปหล่อลื่นผนังกระบอกสูบและแหวน น้ำมันจากท่อรวมใหญ่ ส่วนหนึ่งจะแบ่งไปหล่อลื่นแบริ่งเพลาราวลิ้นและกลไกเปิดปิดลิ้น
 น้ำมันเครื่อง หมายถึง น้ำมันที่ใช้กับเครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายในซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเพื่อหล่อลื่นส่วนเคลื่อนไหวต่างๆ ของเครื่องยนต์ เช่น ลูกสูบ เพลาข้อเหวี่ยง แบริ่งต่างๆ ลูกเบี้ยว และกระเดื่องกดวาล์ว
 หน้าที่โดยทั่วไปของน้ำมันเครื่องที่ดีมีดังนี้
1. ให้การหล่อลื่นและผนึกแหวนสูบเพื่อป้องกันกำลังอัดรั่ว
- คุณสมบัตินี้ได้จากการเลือกใช้ความหนืดที่เหมาะสมและดัชนีความหนืดสูง ที่มีอยู่ในน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานอยู่แล้วถ้าต้องการให้มีดัชนีความหนืดสูงขึ้นไปอีกในการทำเป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวม ก็ต้องผสมด้วยสารเพิ่มดัชนีความหนืด (VI Improver)
2. การระบายความร้อน ซึ่งต้องการน้ำมันที่ทนความร้อนได้สูงโดยไม่เสื่อมสลายเร็ว
- น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน มีคุณสมบัติต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจนสูงอยู่แล้วและเพื่อให้น้ำมันมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นไปอีกจึงผสมด้วยสารเพิ่มคุณภาพต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจน (Oxidation Inhibitor) เพิ่มเข้าไปอีก
3. ลดการสึกหรอ
- คุณสมบัตินี้มีอยู่ในตัวน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานอยู่แล้วแต่ในสภาพการทำงานของเครื่องยนต์ที่มีอุณหภูมิสูงและรับภาระการใช้งานที่รุนแรง (Extreme Load) ฟิล์มบางๆ ของน้ำมันหล่อลื่นอาจขาดได้เป็นผลให้เกิดการสึกหรอขึ้น
- สารเพิ่มคุณภาพประเภทต้านทานการสึกหรอ (Antiwear Agent) จะช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ในสภาพการใช้งานที่รุนแรงได้
4. รักษาความสะอาดภายในเครื่องยนต์
- น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานไม่มีคุณสมบัติในข้อนี้
- ต้องผสมด้วยสารชะล้างทำความสะอาด (Detergent) และสารช่วยกระจายเขม่าตะกอน (Dispersant) เพื่อขจัดคราบเขม่าคาร์บอนออกจากผิวโลหะและกระจายเขม่าตะกอนให้แขวนลอยอยู่ในน้ำมัน โดยไม่ตกตะกอนและจับตัวเป็นก้อนเป็นการชะล้างสิ่งสกปรกมากระจายตัวอยู่ในเนื้อน้ำมันและจะถูกถ่ายออกเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
- น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐานสูงปริมาณสารชะล้างทำความสะอาดและกระจายเขม่าตะกอนก็ยิ่งมีมากขึ้น
5. ป้องกันสนิมและการกัดกร่อน
- สารเพิ่มคุณภาพประเภทป้องกันสนิม (Rust Inhibitor) ให้คุณสมบัติในการยึดเกาะติดผิวโลหะทำให้น้ำหรือความชื้นไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปถึงพื้นผิดได้
- สารเพิ่มคุณภาพประเภทต้านทานการกัดกร่อน (Corrosion Inhibitor) ทำให้น้ำมันเครื่องมีความเป็นด่างเพื่อสะเทินกรดที่เกิดขึ้นจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์ให้กลายเป็นกลาง เพื่อป้องกันการกัดกร่อนผิวแบริ่ง
มาตรฐานน้ำมันเครื่องตามสภาพการใช้งาน
มาตรฐานน้ำมันเครื่อง กำหนดขึ้นมาจากผลการทดสอบกับเครื่องยนต์แบบต่างๆ ที่กำหนดวิธีการทดสอบให้ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงๆ ในสภาพต่างๆ แล้วเทียบเป็นมาตรฐานจากระดับต่ำ ไปสู่ระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของเครื่องยต์ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งต้องการน้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพสูงขึ้นตามมาตรฐานที่ใช้อ้างอิง ได้แก่
1. มาตรฐานน้ำมันเครื่อง API (American Petroleum Institute) สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา กำหนดดังนี้

1.1 มาตรฐานน้ำมันเครื่องเบนซินใช้อักษร S (Service Station) เริ่มตั้งแต่ SA, SB, SC, SD, SE ซึ่งล้าสมัยและยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ ได้แก่ SF, SH, SJ และ SL ที่เป็นมาตรฐานสูงสุดที่ประกาศใช้ล่าสุดเมื่อ 1 ส.ค. 2544

1.2 มาตรฐานน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ใช้อักษร C (Commercial หรือ Compression) เริ่มตั้งแต่ CA, CB ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน ปัจจุบันที่ยังใช้อ้างอิงกัน ได้แก่ CC, CD, CF, CE, CF-4, CG-4 และ CH-4 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในปัจจุบันที่ประกาศออกใช้ในปี 2542 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล 2 จังหวะ มาตรฐานที่ใช้คือ CD-2 และ CF-2 น้ำมันเครื่องสามารถได้มาตรฐานทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องยนต์ดีเซลพร้อมกันได้ เช่น น้ำมันเครื่องยนต์เบนซินมาตรฐาน API SG อาจผ่านการทดสอบได้มาตรฐาน API CD จึงเรียกว่าน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินมาตรฐาน API SG/CD ซึ่งสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐานระดับ CD ได้ด้วย หรือน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล API CF-4/SG ก็สามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินมาตรฐานระดับ SG ได้ด้วย
2. มาตรฐานสหรัฐฯ (US.Military Specification หรือ MIL-L Spec.)
การกำหนดมาตรฐานใช้วิธีการทดสอบคล้ายๆ กับ API แต่แตกต่างกันที่แต่ละมาตรฐานต้องใช้ได้ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องยนต์เบนซินด้วย หน่วยงานเอกชนนิยมนำมาตรฐานทหารนี้ไปใช้อ้างอิงด้วย

2.1 MIL-L-2104 เป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลทั้ง 4 และ 2 จังหวะ สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์เบนซินด้วย ปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ คือ MIL-L-2104 D (CD/SF), MIL-L-2104 (CE/SG), MIL-L-2014 F (CF-4/SG) และ MIL-PRF-2104 G

2.2 MIL-L-46152 เป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซล 4 จังหวะ ได้ด้วย ปัจจุบันที่ใช้คือ
MIL-L-46152 E (SG/CD)
3. มาตรฐาน CCMC ของยุโรป (Committee of Common Market Constructors)
- เครื่องยนต์เบนซิน : CCMC (G1), (G2), (G3), (G4), (G5)
- เครื่องยนต์ดีเซลงานเบา : CCMC (D1), (D2), (D3), (D4), (D5)
- เครื่องยนต์ดีเซลใช้กับรถยนต์นั่ง (Passenger Diesel) : (PD-1), (PD-2)
มาตรฐานนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยมีมาตรฐานใหม่ คือ ACEA แทน
4. มาตรฐาน ACEA ของยุโรป (Association des Constructeurs Europeen d' Automobil)
- เครื่องยนต์เบนซิน : ACEA A1, A2, A3 เทียบเท่า API SJ
- เครื่องยนต์ดีเซลงานเบา : ACEA B1, B2, B3, B4
- เครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก : ACEA E1, E2, E3, E4, E5
5. มาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ (Manufacturers)

5.1 สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน : VW 500.00, VW 501.01, VW 502.02, DB 229.1, ILSAC (GF-1), GF-2, GF-3

5.2 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล : DB 227.0/1,DB228.0/1, DB 228.2/3, DB 228.5, DB 229.1, VW 505.00, MAN 270, 271, MAN M 3275, MAN M 3277, VOLVO VDS, VOLVO VDS-2, MACK EO-K/2, MACK EO-L, MACK E0-M, SCANIA LDF, MTL 5044 TYPE 1,2,3 RVI E2, RVI E2R, RVI E3, RVI E3R, RVI RLD
ตารางมาตรฐานน้ำมันเครื่อง
สถาบัน เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์ดีเซล
API (SA, SB, CC)
(SF)
(SG)
SH
SJ
SL (CA, CB, CC)
(CD, CD-II), CF, CF-2
(CE)
CF-4
CG-4
CH-4
API
มาตรฐานที่ใช้แทนกันได้ (SG/CD)
SJ/CF (CC/SC, CC/SD,CC/SF)
(CD/SE, CD/SF, CD/SG)
CF/SF
CF-4/SG
CH-4/SJ
US MILITARY MIL-L-46152 E MIL-L-2104 D (CD/SF)
MIL-L-2104 E (CE/SG)
MIL-L-2104 F (CF-4/SG)
MIL-PRF-2104G
CCMG (G-1, G-2, G-3)
(G-4)
(G-5) รถเก๋ง รถบรรทุก
(PD-1)
(PD-2) (D1, D2, D3)
(D-4, D-5)
ACEA A1-96, A2-96, A3-96
A1-98, A2-96 Issue 2
A3-98 งานเบา งานหนัก
B1-96, B2-96, B3-96
B1-98, B2-98, B3-98
B4-98 E1-96, E2-96, E3-96
E1-96 Issue 2
E2-96 Issue 2
E3-96 Issue 2
E4-98, E5-99
MANUFACTURERS VW 500.00
VW 501.01
VW 502.00
DB 229.1
(ILSAC GF-1)
ILSAC GF-2
ILSAC GF-3
VOLVO
VW MACK EO-K/2, EO-L, EO-M
MAN 270, 271, M3275, M3277
DB 227.01/1, 228.0/1, 228.2/3
DB 228.5, 229.1
MTL 5044 Type 1, Type 2, Type 3
RVI E2, E2R, E3, E3R, RLD
SCANIA LDF
VDS, VDS-2
505.00
ACEA = Association des Constructeurs Europeens d' Automobil
ก่อตั้งเมื่อ Feb, 1991 เพื่อทดแทน CCMC

ILSAC = International Lubricant Standardization and Approval Committee
(สมาคมผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันและญี่ปุ่น)
สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
ปัจจุบันการจราจรคับคั่ง เครื่องยนต์ร้อนจัด และการที่รถวิ่งๆ หยุดๆ ทำให้รอบของเครื่องยนต์ไม่คงที่เป็นสาเหตุให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เครื่องยนต์ทำงานหนัก-หนักมาก
ขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน สิ่งสกปรกจะเกิดขึ้นตลอดเวลาน้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องรวบรวมสิ่งสกปรกต่างๆ มาไว้ในตัวของน้ำมันสิ่งสกปรกเหล่านี้จะทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถจะทำการหล่อลื่นได้ดีเพียงพอ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและถึงแม้ว่าจะใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงเท่าไรก็ตาม ก็ยังต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเมื่อถึงกำหนดเวลา
อะไรทำให้น้ำมันเครื่องสกปรก
1. ฝุ่นละออง ระบบกรองอากาศ ตลอดจนช่องเติมน้ำมันเครื่องถ้าไม่ได้รับการระวังรักษาที่ดีฝุ่นผงละเอียดต่างๆ อาจเล็ดลอดเข้าไปในเครื่องยนต์ได้
2. เขม่า ถ้าระบบการทำงานของเครื่องยนต์ไม่ดีหรือสภาพของการใช้งานไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการสันดาปไม่สมบูรณ์เกิดเป็นเขม่าสะสมอยู่ในน้ำมันเครื่อง เครื่องยนต์ดีเซลจะมีเขม่าเกิดขึ้นมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน
3. น้ำ เมื่อเกิดการสันดาปขึ้น จะมีไอน้ำเกิดขึ้นซึ่งเมื่อเครื่องยนต์ร้อนไอน้ำจะผ่านออกไปทาง ท่อไอเสีย แต่ไอน้ำบางส่วนอาจลอดผ่านแหวนลูกสูบลงไปในอ่างน้ำมันเครื่องได้ เมื่ออากาศเย็นจะกลั่นตัวเป็นน้ำสะสมอยู่จนกลายเป็นตะกอนเหนียวแบบโคลนตม (Sludge) ความหนืดของน้ำมันก็จะสูงขึ้นนอกจากนี้ยังทำให้เกิดสนิมอีกด้วย
4. กรด การเผาไหม้ของกำมะถันซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในน้ำมันเชื้อเพลิงจะเกิดก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (SO2, SO3) ซึ่งเมื่อรวมตัวกับน้ำที่เกิดจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์จะเป็นกรดกัดกร่อนผิวโลหะ
5. น้ำมันเชื้อเพลิงที่เผาไม่หมด ขณะที่สตาร์ทเครื่องหรือเครื่องยนต์ทำงานในบางสภาพการทำงาน เช่น วิ่งๆ หยุดๆ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เผาไหม้จะซึมผ่านแหวนลูกสูบลงไปยังอ่างน้ำมันเครื่องทำให้น้ำมันเครื่องใสลง จุดวาบไฟต่ำลง
6. เศษโลหะ ที่เกิดจากการสึกหรอตามปกติโดยเฉพาะในเครื่องยนต์ใหม่ซึ่งมีชิ้นส่วนต่างๆ ชิดกันมากจะถูกกรองติดอยู่ที่ไส้กรองน้ำมันเครื่อง แต่อย่างไรก็ตามไส้กรองไม่อาจกรองได้หมดเมื่อน้ำมันเครื่องถูกส่งไปหล่อลื่นยังส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์เศษโลหะเหล่านี้ก็ขีดข่วนผิวโลหะต่างๆ ให้สึกหรอมากขึ้น
7. การสลายตัวของน้ำมันและสารเพิ่มคุณภาพ ในภาวะอุณหภูมิสูง ออกซิเจนจะรวมตัวกับน้ำมันได้ง่าย ทำให้น้ำมันเปลี่ยนสภาพเป็นตะกอนสลัดจ์ คราบยางเหนียวๆ มีความเป็นกรดกัดกร่อนเนื้อโลหะ อีกทั้งความหนืดน้ำมันก็จะสูงขึ้น นอกจากนี้สารเคมีเพิ่มคุณภาพต่างๆ ที่ผสมไว้ก็จะถูกใช้จนหมดไปด้วย
ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อใด
เครื่องยนต์แต่ละชนิดทำงานไม่เหมือนกัน แม้แต่เครื่องยนต์ชนิดเดียวกันยี่ห้อเดียวกันก็ทำงานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน สภาพเครื่องยนต์ และการใช้รถของผู้ขับขี่ ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามหนังสือคู่มือในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง สำหรับเครื่องยนต์ที่ทำงานตามสภาพการใช้งานปกติ แต่เนื่องจากยานยนต์ในปัจจุบันนี้มีสภาพการทำงานหนักมาก เช่น ในสภาพการจราจรแออัด การระบายความร้อนไม่ดี รถที่ติดเครื่องปรับอากาศใช้งานในบริเวณที่มีฝุ่นละอองมากหรือใช้เชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ (ปริมาณกำมะถันสูง) กำหนดเวลาการเปลี่ยนถ่ายอาจลดลงได้ถึง 50% แต่โดยทั่วไปน้ำมันเครื่องมาตรฐานสูง ย่อมใช้งานได้นานกว่าน้ำมันเครื่องมาตรฐานต่ำ

จากคุณ Wit-Tha-Ya เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 47 เวลา 10:12:44


รูปภาพ (.gif และ .jpg เท่านั้น) :
คำตอบ :
  ชื่อ :

 

Copyright © 2002-3 All Rights Reserved.  King Mongkut's University of Technology Thonburi