จากการที่ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ได้ออกประกาศให้ทุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนสถาบันการศึกษา (ระดับอุดมศึกษา) ในประเทศไทย ให้เป็น
มหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง โดยได้เปิดโอกาสให้สถาบันต่างๆ จัดทำแผนเพื่อแสดงแนวคิดเบื้องต้น ในการดำเนินงาน (Conceptual Plan) แล้วให้ยื่นไว้กับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อพิจารณา ภายในวันที่ 31 มกราคม 2544 ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ยื่น Conceptual Plan ไว้กับ สนพ. รวม 22 สถาบัน โดยมีการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อให้สถาบันฯ แต่ละแห่งนั้นเป็น มหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง ซึ่ง สนพ. ได้นำส่ง Conceptual Plan ทั้งหมดให้กับคณะผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวม 8 ท่าน เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ จึงสรุปผลได้ว่า สถาบันฯ ที่สามารถนำเสนอ Conceptual Plan ที่จะทำให้สถาบันของตนเองเป็น มหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง ที่ได้รับคะแนนผ่านเกณฑ์การพิจารณา มีเพียง 9 สถาบัน คือ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ( มจธ.)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตรังสิต)
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตกล้วยน้ำไท)
- สถาบันราชภัฎนครสวรรค์
จาก Conceptual Plan ของทั้ง 9 สถาบันฯ ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณานั้น คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ หลายข้อ เพื่อให้แต่ละสถาบันฯ รับไปเป็นแนวทางในการจัดทำ Detail Plan ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาวิเคราะห์โครงการในรอบของ Detail Plan ต่อไป
สำหรับสถาบันอื่นๆ นั้น คณะผู้เชี่ยวชาญฯ มีความเห็นสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ ว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้มีข้อเสนอแนะในการจัดทำแนวคิดเบื้องต้นให้กับสถาบันอื่นๆต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเปิดให้ทุนสนับสนุน มหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง ในโอกาสต่อไป ...
โครงการมหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มุ่งการทำงานที่เน้นการบริหารจัดการการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ มจธ. จะบริหารงบประมาณแบบ Matching fund โดยมีนโยบายและมาตรการ เริ่มจากการกำหนดนโยบาย และจัดระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานและทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างระบบฐานข้อมูลการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์และฝึกอบรม เพื่อให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึก และหาวิธีที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการอนุรักษ์พลังงาน ใช้ทรัพยากร และลดของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้น มีการบูรณาการการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอน และวิจัยของมหาวิทยาลัย การสนับสนุนและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี และปลอดภัย การสนับสนุนให้เกิดการจัดจ้าง จัดซื้อ และจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง และงานบริการที่ประหยัดพลังงาน มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องคำนึงถึงนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม กิจกรรมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงระบบบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีและปลอดภัย ให้กับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน โดยหาแหล่งสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ครุภัณฑ์และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างพันธมิตรเครือข่ายเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง