ทรัพยากรพลังงานและเชื้อเพลิง
พลังงาน หมายถึง แรงงานที่ได้มาจากธรรมชาติ อาจจำแนกออกได้ตามแหล่งที่มาเป็น 2 ประเภท คือ พลังงานต้นกำเนิด (Primary Energy) ได้แก่ น้ำ แสงแดด ลม เชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ไอน้ำใต้ดิน แร่นิวเคลียร์ ไม้ฟืน แกลบ ชานอ้อย และพลังงานแปรรูป (Secondary Energy) ซึ่งได้มาโดยการนำพลังงานต้นกำเนิดดังกล่าวข้างต้นมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ กัน เช่น พลังงานไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ถ่านโค้ก แก๊สหุงต้ม เป็นต้น จึงนับได้ว่าพลังงานเป็นบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการใช้แหล่งพลังงานดังนี้ คือ
(1) พลังงานทั่วไป
ประเทศไทยใช้พลังงานในรูปต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการใช้พลังงานในรูปผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (รวมแก๊ส) โดยเทียบเป็นค่าความร้อนทั้งหมด ประมาณร้อยละ 81.7 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด พลังงานที่ใช้รองลงมา ได้แก่ พลังน้ำ ซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 8.6 จากชานอ้อยประมาณร้อยละ 6.2 และถ่านหินประมาณร้อยละ 2.4 ไม้ฟื้นประมาณร้อยละ 0.5 แกลบประมาณร้อยละ 0.4 และถ่านไม้ประมาณร้อยละ 0.2
(2) พลังงานไฟฟ้า
ในปี 2518 ความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดมีทั้งสิ้นประมาณ 1,407 เมกกะวัตต์ และพลังงานไฟฟ้าประมาณ 8,212 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดจำนวน 2,438 เมกกะวัตต์ จำแนกเป็นกำลังผลิตติดตั้งจากพลังน้ำ 909 เมกกะวัตต์ พลังไอน้ำ 1,334 เมกกะวัตต์ เครื่องกังหันแก๊ส 165 เมกกะวัตต์ และเครื่องดีเซลอีก 30 เมกกะวัตต์ จากระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดนี้ ปรากฏว่าต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตถึงประมาณร้อยละ 56-62 ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั่วประเทศเท่านั้นที่ได้รับบริการสาธารณูปโภคในด้านนี้ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี |
จากคุณ nok
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 47
เวลา 13:22:35
|
|
|