เสก"ขยะ"เป็น"เงิน" ทางออกปฏิกูลล้นเมือง
โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช
"นายกฯจี้จัดการต่างชาติแสบ แอบทิ้งขยะพิษ ซุก 200 ตู้คอนเทนเนอร์" -- พาดหัวข่าว น.ส.พ.เมื่อเร็วๆ นี้
ขยะ อย่างไรเสียก็ยังเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งทีก็ตื่นตัวที ล่าสุด พบว่าบางชาติแอบ
นำขยะใส่ตู้คอนเทนเนอร์มาฝากไว้ที่ท่าเรือเมืองไทย โดยเฉพาะขยะพิษ ประเภทแบตเตอรี่เก่า เครื่องยนต์เก่า
หัวรถเก๋งชำรุด ยางรถยนต์ ฯลฯ เช่นเดียวกับริมถนนสายสมุทรปราการ ปทุมธานี หรือพัทยา ที่ข้างทางเต็ม
ไปด้วยขยะจากมือลึกลับ
ถ้าดูตัวเลขสถิติจะพบว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีปริมาณขยะ 1.4 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ยวันละ 38,000 ตัน/วัน
แต่สามารถจัดเก็บขยะได้เพียง 31,000 ตัน/วัน ที่เหลืออีก 70% ยังกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่จะกองทิ้ง
กลางแจ้ง สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ขณะเดียวกัน การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ก็ทำได้น้อย
มีขยะที่สามารถนำไปแยกใช้ได้ 6 ล้านตันต่อปี แต่สามารถนำขยะกลับไปใช้ใหม่ได้เพียง 2 ล้านตันเท่านั้น
ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการกำจัดขยะ
หนำซ้ำขยะบางประเภท เช่น ยางรถยนต์ ถ้านำไปเผาทำลายยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ในทางตรงกันข้าม
ถ้านำมาเข้าเครื่องย่อย ตัด-สับ-บด ผสมกับขยะทั่วไป อัดขึ้นรูป สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ และมีประสิทธิภาพ
มากว่าถ่านหินเสียอีก
"ปธาน อยู่โพธิ์" อดีตที่ปรึกษางานพัฒนาที่ดิน ซึ่งหันมาศึกษาทดลองแปรรูปขยะ กระทั่งประสบความสำเร็จ
ในการผลิตเครื่องแปรรูปขยะมูลฝอยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง กระป๋อง หรือขยะพิษ
มาแปลงเป็นวัสดุก่อสร้าง เล่าถึงการแปรรูปขยะว่า
"ถ้าเป็นขยะพิษ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์เข้าเครื่องแปรรูปขยะในทันทีไม่ได้ เพราะมีน้ำกรด ทำลายโลหะในตัว
เครื่องสับ ต้องนำมาคว่ำเทน้ำกรดทิ้งเสียก่อนจึงนำมาเข้าในกระบวนการปกติได้ แต่ถ้าเป็นขยะพิษ
จากโรงพยาบาลสามารถเข้าแปรรูปได้เลย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องเชื้อโรค ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่ติดไฟและยัง
กันน้ำด้วย เพราะเป็นระบบที่เอาเคมีมาเคลือบผิว เหมือนกับว่าเอานักโทษมาอยู่ในคุก มันจะออกมาทำ
อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นยิ่งปั่นให้มันเล็กได้เท่าไหร่ ความปลอดภัยของผู้ใช้ก็จะมากขึ้นเท่านั้น
อันนี้เป็นเทคโนโลยีจากยุโรป อเมริกา คือผมเรียนสถาปัตยฯ เรียนผังเมืองแล้วก็มาทำเป็นที่ปรึกษางานพัฒนา
ที่ดิน พอดีในช่วงที่เศรษฐกิจตก ผมไม่มีอะไรทำ ก็นั่งแปลหนังสือแล้วก็แต่งหนังสือ กระทั่งพบข้อมูลว่า
เขาใช้เวลากว่า 20 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีนำขยะมาแปรรูปเพื่อการใช้ประโยชน์ จึงเกิดความคิดที่จะ
ผลิตต้นแบบเอง เพราะตัวผมก็อยู่ในวงการขยะตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล เข้าใจปัญหาของการจัด
เก็บขยะ ขณะเดียวกัน ก็มองเห็นลู่ทางทำเงินจากสิ่งที่คนอื่นไม่ต้องการ"
กรรมวิธีในการแปรรูปขยะในระบบนี้ คือการนำขยะมูลฝอยมาเข้าเครื่องตัด-สับ-บด (ส่วนที่เป็นของเหลว
จะไปรวมกันอยู่ในถังพัก ฆ่าเชื้อและปรับสภาพ) แล้วลำเลียงเข้าสู่เครื่องอบให้เหลือความชื้นเพียง 4%
แล้วนำมารวมกับขยะเหลวที่ผ่านการปรับสภาพแล้ว เข้าสู่กระบวนการทางเคมีเพื่อปรับเปลี่ยน
คุณลักษณะทางกายภาพของขยะให้มีคุณสมบัติในการขึ้นรูป จึงเข้าสู่แม่พิมพ์ หล่อแบบเป็นวัสดุใช้แทน
"ไม้", "กระเบื้อง" และ "คอนกรีต"
ปัจจัยสำคัญคือ น้ำยาเคมีที่นำมาปรุงแต่งในกระบวนการทางเคมี ที่เป็นตัวกำหนดให้วัสดุที่ได้มีความหนา
แน่นของโมเลกุลได้ตามต้องการ จึงสามารถแม้กระทั่งทำวัสดุที่ใช้แทนไม้หมอนรองรางรถไฟได้ เพราะนอก
จากจะให้ความแข็งแรง ทนทานกว่า ยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงช่วยในการทรงตัวของรถไฟในจังหวะเลี้ยวโค้ง
"น้ำยาที่นำมาผสมเป็นน้ำยาที่สั่งจากต่างประเทศ มีด้วยกันเกือบสิบตัว แล้วนำมาผสมกัน
ทีนี้ก็ต้องดูว่าเราจะนำไปทำวัสดุสำหรับส่วนไหน ถ้าใช้ในการตกแต่งภายใน เช่น ทำฝ้าด้านใน
ก็สามารถตัดน้ำยาไปได้หลายตัว เช่น น้ำยาต้านยูวี ฯลฯ ถ้าหากใช้ภายนอก เอาไปทำอิฐมวลเบา
คือเราจะก่อผนังแล้วฉาบปูนทีหลัง ตรงนี้จะใช้น้ำยาน้อยลง ซึ่งเมื่อเทียบคุณสมบัติกับซีเมนต์แล้ว
เราจะได้เปรียบกว่า เพราะไม่มีปัญหาในการตัด เพียงใช้เลื่อยธรรมดาก็ตัดได้แล้ว
จริงๆ แล้วปัญหาของการแปรรูปขยะไม่ได้อยู่ที่ตัวขยะหรือกระบวนการทางเคมี แต่อยู่ที่ระบบการสับ
การย่อยสลายขยะ เพราะเครื่องจะต้องรับมือกับขยะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องสเปรย์ กระป๋องเป๊ปซี่
น็อต ตะปู เชือกอวน เชือกร่ม ถุงพลาสติกทุกอย่างรวมหมดเลย แม้กระทั่งน้ำยาขนมจีน ซึ่งยิ่งย่อยสลายขยะ
ได้โมเลกุลเล็กเท่าไหร่ มันจะยิ่งมีทวีความเหนียวและความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็เปลืองเคมีน้อยลง
ปีกว่าของการศึกษาทดลองแปรรูปขยะ พร้อมกับประดิษฐ์เครื่องแปรรูปขยะมูลฝอย ผ่านการจดสิทธิบัตร
ทีเดียว 3 ใบ คือสิทธิบัตรการประดิษฐ์ "การกำจัดขยะและขบวนการแปรรูปขยะมูลฝอย", อนุสิทธิบัตร
"ขบวนการแปรรูปเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร" และอนุสิทธิบัตร "การแปลงสภาพขยะมูลฝอยเพื่อ
ประหยัดพลังงานและลดค่าก่อสร้างเตาเผาขยะ"
ปธานว่า แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับนำผลงานการคิดประดิษฐ์มาสร้างเป็นบ้านตัวอย่าง แต่รับรองว่าทำได้แน่นอน
ทั้งยังมีความคงทนต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดี ไม่พองน้ำหรือยุ่ยออกเมื่อถูกน้ำหรือแช่อยู่ในน้ำ ทนแดด
ทนฝน ใช้งานได้ดีทั้งภายนอกและภายในอาคาร กันปลวกกันแมลง สามารถนำมาใช้ทดแทนวัสดุทาง
ธรรมชาติ เช่น ในงานคอนกรีต งานไม้ เครื่องเรือน งานซีเมนต์ และกระเบื้องต่างๆ
ที่สำคัญคือ อะไหล่ทุกชิ้นประกอบโดยแรงงานไทย สะดวกซื้อ สะดวกซ่อม เงินทองไม่รั่วไหลออกนอก
ประเทศ
ขณะที่ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท วงษ์พาณิชย์กรุ๊ป เจ้าพ่อวงการขยะรีไซเคิล
ให้ความรู้ว่า ขยะมีพิษนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือประเภทที่เป็นขยะอันตรายกับขยะที่สามารถ
นำไปรีไซเคิลใหม่ได้ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ แยกออกได้เป็น 3 ส่วน คือหนึ่ง ส่วนที่เป็นน้ำกรดซัลฟูริก แอซิด
สามารถนำไปบำบัดน้ำเสียได้ ซึ่งมีค่าเป็นด่างให้กลับมาอยู่ในสภาพเป็นกลางได้ สอง ส่วนเปลือกเป็น
พลาสติกเหนียวชนิดพิเศษ นำมาใช้ทำเป็นโต๊ะเป็นตู้เสื้อผ้า และส่วนที่สาม คือแผ่นธาตุตะกั่วก็นำมารีไซเคิล
เป็นแผ่นธาตุใช้ใหม่ได้
"ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์สามารถรีไซเคิลได้ 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นส่วนที่เป็นปัญหา คือส่วนที่เป็น
โคบอลต์ เช่น จอมอนิเตอร์ รวมถึงจอทีวี ที่นับวันมีมากขึ้นทุกที เพราะนอกจากจะมีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ
จอพวกนี้ยังมีอายุการใช้งานเพียง 14-16 เดือนเท่านั้น
ถ้าเป็นถุงมือยางต้องพิจารณาอีกครั้งว่าเป็นถุงมือยางปนเปื้อนหรือไม่ ซึ่งส่วนมากถ้าได้มาจากโรงงาน
อุตสาหกรรมมักไม่อันตราย สามารถรีไซเคิลได้ แต่ถ้ามาจากโรงพยาบาล ถือเป็นขยะติดเชื้อต้องทำลาย
โดยนำเข้าเตาเผาอุณหภูมิ 1,400 องศาเซลเซียส ส่วนโทรศัพท์มือถือมีทั้งที่รีไซเคิลได้ คือส่วนที่เป็นนิเกิล
ไฮดราย และไม่ได้ คือที่เป็นแคดเมียม ตอนนี้ผมกำลังศึกษาอยู่"
ขยะจะยังคงเป็นปัญหาของชาวโลกต่อไปไม่มีวันจบสิ้น! |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 47
เวลา 7:03:21
|
|
|