บทความพลังงาน

อาศรมพลังงาน โรงเรียนเทคโนโลยีเพื่อชุมชน 
[ ตอบกระทู้นี้เพิ่ม คลิกที่นี่ ]

อาศรมพลังงาน โรงเรียนเทคโนโลยีเพื่อชุมชน

อาศรมพลังงาน โรงเรียนเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม ริมเขาใหญ่ ภายใต้บรรยากาศร่มรื่น วันนี้กำลังก่อรูปก่อร่างเพื่อสร้างเป็นฐานปฎิบัติการในการคิดค้น ประดิษฐ์ เลือกใช้เครื่องไม้เครืองมือสำหรับการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้อย่างคุ้มค่าสมกับปณิธานที่ว่า “งานสิ่งใดที่ไม่สามารถยกระดับความรู้และความคิดทางวิทยาศาสตร์ของประชาชนได้ งานสิ่งนั้นไม่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในทางกลับกัน ประชาชนควรจะสามารถควบคุมเทคโนโลยีนั้น ๆ ให้ได้ในราคาที่คุ้มค่า”

การจัดฝึกอบรมการผลิตเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแดดระดับครอบครัว วันที่ 9-11 กรกฎาคม 46 นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้โดยใช้วัสดุอย่างง่าย เช่น สังกะสี ท่อ pcv เพื่อผลิตน้ำร้อนใช้เองในระดับชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างการตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน



คุณ เชาวรัช ทองแก้ว ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลสมาคมเทคโนยีที่เหมาะสม ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องการประสานงานชุมชน บอกถึงแนวการทำงานของสมาคมว่าเป็นการนำเสนอไอเดียเรื่องพลังงานให้แก่ชุมชน “เราเป็นกลจักรหนึ่ง ที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง องค์กรชาวบ้าน เอ็นจีโอในพื้นที่เรื่องการจัดสรร วางแผนเรื่องการใช้พลังงานกับคนในพื้นที่ ในชุมชนว่าเราจะใช้หรือช่วยกันเลือกเฟ้นพลังงานที่เหมาะสมอย่างไร ใช้อย่างไร เมื่อได้เป้าหมายอันหมายถึงพื้นที่ชุมชนก็จะลงไปประชุมชี้แจงเรื่องปัญหาการใช้พลังงาน จัดตั้งและจัดอบรม ครั้งแรกจะเป็นการทำความเข้าใจเรื่องพลังงานในชุมชนว่ามีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง และจะมีวิธีจัดการหรือใช้มันอย่างไรถึงจะส่งผลกระทบกับสังคม สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”

คุณ เชาวรัช อธิบายถึงขั้นต่อไปในการทำงานข้อมูลว่าต้องดึงกลุ่มเยาวชนเข้ามาช่วยในการจัดเก็บโดยสอนเขาว่าข้อมูลจะต้องมีการจัดเก็บอย่างไร ทำอย่างไร ใช้อย่างไร หรือการออกแบบสอบถามเกี่ยวกับประเด็นพลังงานแล้วให้กลุ่มเยาวชนลงเก็บข้อมูล

“จริง ๆ แล้วในชุมชนมีขุมพลังงานหลากหลายรูปแบบแต่ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นไม้ฟืน ถ่าน น้ำมัน ไฟฟ้านี่เขาใช้ไม่มากเท่าในเมือง แก๊สมีบ้างแต่หมายถึงมีฐานะขึ้นมาสักหน่อย แต่ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ฟืนกันมาก” ขั้นแรกพูดคุยชี้แจงเรื่องประเด็นพลังงาน ขั้นที่สองคือการเก็บข้อมูล และการเลือกใช้พลังงาน เมื่อเรียบร้อยแล้ว จะเลือกอาสาสมัครเข้ามาอบรม ประกอบคิดค้นเครื่องใช้พลังงานอย่าง่าย ทำเองได้ในชุมชน ใช้วัสดุในชุมชนด้วยการมาอบรมดูงานที่อาศรมพลังงาน

คุณ เชาวรัช อธิบายต่อไปว่า อย่างกรณีของบ้านดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เขาเรียนรู้ว่าในแถบถิ่นที่เขาอาศัยอยู่เหมาะที่จะทำการปั้นเตาประสิทธิภาพสูง เราก็อธิบายว่าจะช่วยลดการใช้ฟืนถ่านได้อย่างไรเขาจะเรียนรู้ตรงจุดนี้ด้วย

“เมื่อชาวบ้านเห็นภาพว่าการใช้เตาประสิทธิภาพสูงนั้นสามารถลดจำนวนการสูญเสียพลังงานลงได้แล้วก็จะมาดูกันว่าชุมชนของเขามีศักยภาพมากพอที่ผลิตเตาชนิดนี้ออกมาได้หรือไม่ ดินมีหรือไม่ ช่างปั้นเตามีหรือไม่เมื่อเห็นว่าสามารถทำได้ก็ลงมือปฎิบัติงานจริงกันตามขั้นตอน”

“ก่อนลงมือทำงานชาวบ้านจะคิดกันก่อนว่ามูลค่าที่เขาต้องสูญเสียไปในเรื่องพลังงานนั้นอยู่ที่จำนวนเท่าไร จากชุมชนถึงตำบลถึงอำเภอที่เขาอยู่ แต่ละปีมีมูลค่าที่เขาสูญเสียไปคิดเป็นจำนวนเงินเท่าไรก่อน ทั้งค่าไฟฟ้า การใช้ฟืนถ่าน น้ำมัน สูญเสียไปเท่าไรกับอะไรบ้าง”

“เราทำข้อมูลให้เขาเห็นทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงถึง 14-15 ล้าน/ปี ดังนั้นเราจะลดหรือเลือกหาวิธีการใช้พลังงานที่ถูกกว่านี้ได้หรือไม่ เป็นคำถามที่เราโยนให้เขาคิด”

“เราจะเน้นเรื่องการลดใช้พลังงานลงและพยายามเลือกหาเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้เพื่อทดแทน เช่น เตาประสิทธิภาพสูงที่ยกตัวอย่างมานั้นเมื่อก่อนชาวบ้านจะใช้เตาอั้งโล่ธรรมดา พลังงานความร้อนที่สูญเสียไปมีมากและเปลืองถ่านมาก”

ขั้นตอนตรงนี้ คุณ เชาวรัช บอกว่าชาวบ้านจะเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่ายเพราะเป็นเหมือนการรักษาเงินในกระเป๋าของตัวชาวบ้านเอง “เมื่อสามารถทำตรงนี้ได้ก็จะประหยัดได้ หลังจากนั้นเขาจะเริ่มตระหนักว่าเขาจะเลือกใช้พลังงานชนิดใดได้ หรือพลังงานอะไรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

“ระหว่าง 2 ปี ของโครงการ หมู่บ้านนำร่อง ที่ให้ผลชัดเจนได้แก่ 1.ต.อู่โลก อ.ลำพวน จ.สุรินทร์ 2. อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด 3. ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 4.หนองเสาเล้า อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น”

อาศรมพลังงานจะเป็นส่วนหนึ่งที่คล้าย ๆ กับ ‘โรงเรียน’ ฝึกอบรมกลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรส่วนท้องถิ่น เป็นการรองรับแผน เมื่อเห็นภาพแล้วว่าชุมชนตรงนี้มีความต้องการใช้เตาเผาถ่าน 200 ลิตร ก็จะคัดเลือกกลุ่มแกนเพื่อเข้ามาอบรมแล้วขยายงานให้กับชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป


ในเรื่องพลังงานกับสังคมไทย คุณ เชาวรัชให้ความเห็นว่า “การเลือกใช้พลังงานทางเลือกจะกลายมาเป็นบทบาทหลักได้มาก คือ เมื่อมองจากอำนาจการต่อรองเรื่องพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันในตลาดโลกประเทศไทยทำได้น้อยมากดีที่สุดเราทำได้เพียงจ่ายราคาน้ำมันถูกลง แก็สก็ต้องสั่งซื้อจากพม่า มันไม่ยั่งยืน”

“เรื่องพลังงานทดแทนมันดูเหมือนจะเล็ก แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นหน่วยย่อยที่แต่ละคนสามารถทำได้อาจจะไม่ถึงขั้นผลิตพลังงานเองแต่ก็สามาถเลือกใช้พลังงานทดแทนบางชนิดได้ หรือลดการใช้พลังงานหลักที่ใช้กันอยู่ได้ เดนมาร์กนี่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องการใช้พลังงานทดแทน แต่กว่าจะได้มาก็ต่อสู้กันมาเป็นสิบ ๆ ปี”

“เรากำลังต่อสู้อยู่กับพลังงานกระแสหลัก เตาแก็สกับเตาถ่าน เทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว ปัญหาคือว่าต้องกำหนดกรอบนโยบายเรื่องการใช้พลังงานเสียใหม่และเปลี่ยนทัศนคติของคนเรื่องการใช้พลังงาน คือ กระตุ้นจิตสำนึกควบคู่กันไปด้วยความคิดตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ”

“มีครั้งหนึ่งลงพื้นที่ไปรณรงค์เรื่องความจำเป็นที่เราต้องประหยัดพลังงาน อย่างเรื่องค่าไฟ ชาวบ้านเอาบิลมาให้ดู 35 บาท 25 บาท เจอคำถามย้อนกลับว่าทำไมไม่รณรงค์???คนเมือง เจ้าของธุรกิจ-อุตสาหกรรมเขาใช้ไฟฟ้ามากกว่าชาวบ้านหลายเท่า เราบอกว่า ส่วนหนึ่งเมื่อเราเริ่มประหยัดผลประโยชน์จะตกอยู่กับเราเอง หลังจากนั้นสังคมก็ได้ประเทศก็ได้ แม้คนเมืองเขาจะยังไม่ทำ ยังไม่ตระหนักแต่ขอให้จุดเริ่มต้นคือ เรา”

คุณเชาวรัชบอกว่างานรณรงค์ในเขตเมืองนี่ก็ทำอยู่เป็นเรื่องการรณรงค์ให้ประหยัด รู้คุณค่ามากกว่า เครื่องทำน้ำร้อนนี่จะเหมาะสมกับคนเมืองมากกว่าชาวบ้านคิดว่าจะเริ่มต้นที่เทศบาลเมือง จังหวัดกระบี่ที่แรก

“พลังงานทดแทนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานหมุนเวียน ใช้ไปได้อย่างถึงที่สุด จะมาควบคู่กับเรื่องการประหยัด อย่างเช่น ใช้แผงโซล่าเซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 200 วัตต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณก็ต้องไม่เกินนี้ การบริโภคจะลดลง เราเคยชินกับความสะดวกมานาน เพลิดเพลินจนไม่รู้ว่าหากพลังงานหมดไปโลกจะวุ่นวายเพียงไหน เราคิดไปไม่ถึง โดยจุดมุ่งหมายแล้วคือสังคม-ชุมชนจะเข้าไปจัดการและรู้จักการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างไร”

ทางด้าน อ.เสนอ เฉยใส ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จ.อุบลราชธานี ผู้มีบทบาทหลักในการสร้างฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก-เยาวชน บอกแก่ทีมงานไทยเอ็นจีโอว่า “ขอบเขตการศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ต้องเน้นไปที่วิทยาศาสตร์ที่สร้างชีวิต ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”

“คำถามแรกคือว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ความพยายามสร้างสำนึกเรื่องการใช้พลังงานที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องสร้างและเป็นเป้าหมายหลักในการให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์”

ผอ.บอกว่า ปัญหาหลัก ๆ ของยุคสมัยนี้ คือ พลังงานปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไปในอนาคต จากการศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์พบว่า ในอนาคตเรามีเวลาอีกเพียงชั่วหนึ่งอายุคน พลังงานจากการหมักหมมของซากฟอสซิลนี้ก็จะมลายหายสูญจากโลกนี้

“ปิโตรเลียมเป็นหัวใจของการใช้พลังงานในทุก ๆ เรื่อง ไฟฟ้า เป็นกลุ่มพลังงานที่เราใช้กันมากที่สุด ต้นตอของไฟฟ้านั้นมาจากน้ำมันปิโตรเลียมถึง 97% เราใช้พลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟเพียง 3% เท่านั้น คิดดูว่าหากปิโตรเลียมหมดไปจะเกิดอะไรขึ้น!!!”

“นับวันเราจะทวีการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเราส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม เราใช้พลังงานผลิตสินค้าเพื่อขาย เราใช้ทรัพยากรสำหรับส่งเสริมระบบอุตสาหกรรม แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลกับสิ่งแวดล้อมและนับวันมันจะหมดลงไปเรื่อย ๆ เรายังไม่เห็นผลของเรื่องนี้ที่จะตกเป็นผลในกาลอนาคต ลูกหลานจะบ่นว่าบรรพบุรุษทำให้เขาต้องตกอยู่ในห้วงกาลของยุคหินอีกครั้ง”

ผอ. เสนอ บอกว่าปัญหาของสังคมไทยยังขาดผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทนอยู่มาก ระบบการศึกษา ระบบราชการยังไม่เปิดโอกาสและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานคลื่น ยังคงเป็นความลี้ลับ ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเต็มที่

“เราจำเป็นต้องเริ่มต้นเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ รณรงค์สร้างความเข้าใจ ทั้งในส่วนของเด็ก ผู้ใหญ่ คนหนุ่มคนสาว ให้มาสนใจในเรื่องนี้ให้มาก ๆ เปิดโอกาสให้เกิดการคิด ทดลอง ฝึกปฎิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง จับต้องได้ ไม่ใช่การท่องตำราแล้วทำข้อสอบ วงกลมข้อที่ถูกต้อง ถือว่าเป็นคนเก่ง เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันทั้งระบบ”

สำหรับโครงการต่อไป ผอ. เสนอ เผยว่ากำลังคิดพัฒนาเครื่องตากแห้งเซลล์สุริยะที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้มาก ผอ. อธิบายให้เห็นว่า พืชผักผลไม้พื้นถิ่นมีมาก การใช้เครื่องตากแห้งเซลล์สุริยะซึ่งนอกจากประหยัด สะอาดแล้ว จะเป็นอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการด้านการถนอมอาหารในสังคมไทย

อาศรมพลังงาน โรงเรียนต้นแบบของเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม นับเป็นขั้นหนึ่งของความก้าวหน้าในสังคมไทยที่สมควรให้ความสำคัญ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นผูกพันอยู่กับชุมชนไทยมาช้านาน การหยิบใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติรอบตัวเป็นเรื่องไม่ยากนักที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นเป็นเรื่องขั้นตอนการรักษาสมดุลย์ระหว่างการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้กับการรักษาวิถีชีวิตของชุมชนเอาไว้ นั่นกลับเป็นคำตอบที่ยากกว่า มีเพียงแสงสว่างในหัวใจของเราเท่านั้นที่ตอบได้

จากคุณ Wit-Tha-Ya เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 47 เวลา 7:10:01


รูปภาพ (.gif และ .jpg เท่านั้น) :
คำตอบ :
  ชื่อ :

 

Copyright © 2002-3 All Rights Reserved.  King Mongkut's University of Technology Thonburi