เอทานอลแหล่งพลังงานสะอาดของไทยในอนาคต
น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาช้านาน เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการที่สูงขึ้นตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการประมาณการเมื่อรวมปริมาณน้ำมันจากแหล่งผลิตใหญ่ๆ ของโลกเราจะมีน้ำมันสำรองใช้ได้อีก 40 ปี หากใช้ในอัตราปัจจุบัน
การคิดค้นแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ และที่มีความตื่นตัวกันมากในขณะนี้ คือ เอทานอล
เอทานอล เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการหลักพืชเศษซากพืช ได้แก่ อ้อย น้ำตาล กากน้ำตาลกากอ้อย บีทรูท(หัวผักกาดหวาน) แป้งมันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เพื่อเปลี่ยนแป้งจากพืชให้เป็นน้ำตาลแล้วเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์อีกครั้ง แอลกอฮอล์ที่ทำให้บริสุทธิ์ 95 % จะเรียกว่า เอทานอล (Ethanol)
จากรายงานของผู้ผลิตรายใหญ่พบว่าผลผลิตเอทานอลที่ได้จากวัตถุดิบ คือ พืชชนิดต่างๆ จำนวน 1 ต้น เมื่อผ่านขบวนการผลิตจะได้ผลผลิตเอทานอลที่แตกต่างกัน หากใช้วัตถุดิบประเภทธัญพืช ข้าว ข้าวโพด จะได้เอทานอลสูงถึงจำนวน 375 ลิตร รองลงมาถ้าใช้กากนี้ตาลจะได้เอทานอลจำนวน 260 ลิตร ในขณะที่ใช้หัวมันสดจะได้เอทานอล 180 ลิตร
เอทานอลใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างไร เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ผสมน้ำมัน (Fuel Alcohol) เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 95 % โดยปริมาตร ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ใน 3 รูปแบบ คือ
แบบแรก เป็นเอทานอล 95 % ใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงทดแทนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลใช้ได้กับเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนการอัดสูง บราซิลเป็นประเทศแรกที่มีการศึกษาวิจัยและเริ่มใช้เอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2516 โดยผลิตเอทานอลจากอ้อย และกากน้ำตาล ยานพาหนะที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงมีมากถึงประมาณร้อยละ 41 สำหรับในเครื่องยนต์ดีเซลสามารถใช้เอทานอลบริสุทธิ์ 95 % ผสมในน้ำมันดีเซลเรียกว่า ดีโซฮอล์ (Diesohol) ในอัตราส่วนร้อยละ 15 และเพิ่มสารปรับปรุงคุณสมบัติบางตัวในปริมาณร้อยละ 1-2
แบบที่ 2 เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % โดยปริมาตร ผสมในน้ำมันเบนซิน ซึ่งจะเรียกว่า แก๊สโซฮอล์ (Gasohol) โดยทั่วไปใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินอัตราส่วนร้อยละ 10 ลักษณะของสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงค่าออกเทนของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์โดยทั่วไป ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด ซึ่งบราซิลก็ใช้เอทานอลผสมน้ำมันเบนซินที่อัตราส่วนร้อยละ 22
แบบที่ 3 เป็นสารเคมีเพิ่มออกเทน (Octane) แก่เครื่องยนต์ โดยการเปลี่ยนรูปเอทานอลมาเป็นสาร ETBE (Ethanol Tertiary Butyl Ether) สามารถใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่ง MTBE เป็นสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซินทีหลายประเทศประกาศห้ามใช้เนื่องจากก่อให้เกิดมลพิษในอากาศสูงกว่าสารเติมแต่งอื่นๆ
ในต่างประเทศมีการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงมานานแล้ว จากการรายงานของบริษัทบางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) การผลิตเอทานอลของโลกมีมากกว่า 30,000 ล้านลิตรต่อปี บราซิลเป็นประเทศที่ผลิตและใช้เอทานอลมากที่สุดในโลก มีการใช้เอทานอลอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 1975 ในปัจจุบันมีการผลิตเอทานอลรวม 13,000 ล้านลิตรต่อปี และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงกับรถยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งเครื่องยนต์แล้วมีประมาณ 4 ล้านคัน และใช้เอทานอลจำนวนร้อยละ 22 ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ปกติประมาณ 12 ล้านคัน
สำหรับสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเชื้อเพลิงทดแทนตั้งแต่ปี 1979 มีการออกกฎหมายและมาตรการสนับสนุนด้านการลงทุนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและช่วยเหลือทางด้านภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้หันมาให้ความนิยมเชื้อเพลิงทดแทนโดยเฉพาะเอทานอลมากยิ่งขึ้น มีปริมาณการผลิตรวม 7,000 ล้านลิตรต่อปี เป็นอันดับสองรองจากบราซิล
ประเทศสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายให้สมาชิกใช้พลังงานทดแทนในอัตรา 12 % ของพลังงานทั้งหมดในปี 2010 ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตรวม 2,000 ล้านลิตรต่อปี ฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลในยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านลิตรต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจะกำหนดให้แต่ละประเทศใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูตรผสมเอทานอล แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยนิยมนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงมากนัก มีเพียงประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นที่เริมออกกฎหมายและมาตรการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสร ETBE เป็นส่วนผสม ส่วนประเทศสเปน สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ มีการใช้มาตรการกระตุ้นทางภาษี
เอเชีย มีปริมาณการผลิตรวม 5,500 ล้านลิตรต่อปี โดยจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดรองลงมาได้แก่ อินเดีย ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ การใช้เอทานอลในเอเชียส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภค ส่วนออสเตรเลีย มีปริมาณการผลิตรวม 110 ล้านลิตรต่อปี
ปัจจุบันการซื้อขายเอทานอลในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก มีปริมาณเอทานอลในตลาดโลกปีละประมาณ 3,500-4,000 ล้านลิตร และในอนาคตปริมาณการค้าในตลาดโลกจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากหลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้เอทานอลในรูปของเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการลดมลพิษทางอากาศ
ประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดในทวีปอเมริกา คือ บราซิล ปีละ 1,000 ล้านลิตร โดยส่งไปยังตลาดในแถบยุโรปตะวันออก ในยุโรปประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ ฝรั่งเศส และประเทศในเอเชียที่ส่งออกมากที่สุด คือ จีน ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลกปริมาณปีละ 450 ล้านลิตรต่อปี
ในประเทศไทยมีการแสวงหาเชื้อเพลิงจากทรัพยากรภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นเวลานาน ดังนั้นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เช่น เอทานอลจากมันสำปะหลัง อ้อย ธัญพืชอื่นๆ เพื่อนำไปผสมน้ำมันเบนซินหรือดีเซล จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยตรงต่อสภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และสามารถลดการขาดดุลเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การนำเอทานอลมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้น ประเทศไทย มีวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ส่วนต้นทุนการผลิตก็ต่ำกว่ากว่าผลิตน้ำมันเบนซิน และดีเซลจากปิโตรเลียม หากแต่มีปัญหาในเรื่องการผลิตสิ่งที่จะมารองรับการใช้ประโยชน์เอทานอล ซึ่งก็คือ เครื่องยนต์กลไกนั่นเอง
กระทรวงอุตสาหกรรมคาดความต้องการใช้เอทานอลในประเทศไทยว่ามีปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 330 ล้านลิตรต่อปี โดยเอทานอลที่ผลิตได้จะนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10 % เพื่อทดแทนการใช้สารเพิ่มค่าออกเทน MTBE ในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ซึ่งต้องนำเข้ามูลค่าปีละกว่า 3,000 ล้านบาท
สำหรับการผลิตแก๊สโซฮอล์ ในประเทศไทยนั้นเกิดจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2528 โดยโครงการส่วนพระองค์ได้ศึกษาการผลิตแก๊สโซฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยผลิตเอทานอลจากอ้อย หลังจากนั้นก็เกิดความตื่นตัวทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาและนำไปทดสอบกับเครื่องยนต์
ในปี 2543 ปตท. ดำเนินการทดสอบการใช้แก๊สโซฮอล์ในรถยนต์ พบว่า ช่วยลดมลพิษ ประหยัดน้ำมัน และไม่มีผลต่อสมรรถนะ โดยในขณะนี้มีการผลิตแอลกอฮอล์จากหัวมันสด โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศ ซึ่งจะส่งให้โรงกลั่นของบางจากผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ต่อไป และได้ทดลองจำหน่ายเมื่อปี 2544 ในสถานีบริการน้ำมันของบางจาก 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ โดยมาราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 เล็กน้อย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับทีน่าพอใจ
สำหรับการสนับสนุนของภาครัฐนั้น คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 ได้กำหนดนโยบายให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในช่วง 2-3 ปีแรก ให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินในอัตรา ร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินภายในประเทศ พบว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน ภายในประเทศอยู่ที่ระดับประมาณ 20 ล้านลิตร / วัน แยกเป็นน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ประมาณร้อยละ 30 และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ประมาณ ร้อยละ 70 ดังนั้น หากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวบรรลุผลตามเป้าหมาย จะทำให้เกิดความต้องการใช้เอทานอลวันละประมาณ 2 ล้านลิตร
อย่างไรก็ดี ในอนาคตคาดว่า ไทยสามารถผลิตเอทานอลได้ถึง 1.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณ 500 ล้านลิตรต่อปี เนื่องจากขณะนี้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตเอทานอลถึง 8 ราย ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ
แต่ที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติทั้งการให้ความช่วยเหลือในรูปของภาษีมาตรการทางการเงิน เพื่อก่อให้เกิดการผลิตการผลิตที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้มีการผลิตเครื่องยนต์ เครื่องจักรกลที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น การผลิตรถยนต์ขับในเมืองที่ใช้เอทานอล (CITYCAR) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ไม่ต้องการความเร็วสูง มีขนาดเล็ก ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจประโยชน์ของการใช้เอทานอลต่อส่วนรวม แม้ในระยะแรกต้นทุนการใช้รถยนต์ดังกล่าวจะมีราคาแพงกว่าแบบเดิม แต่จะช่วยในเรื่องของการลดมลพิษ ซึ่งจะมีผลดีต่อไปในระยะยาว |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 47
เวลา 7:11:17
|
|
|