ไทยทำ ไทยใช้ ไทยประหยัด
ทำไมประเทศไทยไม่นำผลผลิตการเกษตรที่ปีหนึ่งๆ มีเหลือเป็นจำนวนมาก เช่น อ้อย แกลบ ฟางข้าว มาผลิตเป็นพลังงานให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ต้องพึ่งพิงแต่การนำเข้าน้ำมัน
ตอบ
ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเป็นอย่างมาก และมีการพัฒนามาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งหากจำแนกผลผลิตทางการเกษตรในประเทศที่สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นพลังงาน สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการทดแทนน้ำมัน เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล แล้ว ทุกส่วนของผลิตผลทางการเกษตร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิต เป็นพลังงานได้เกือบทั้งหมด เช่น
ข้าว หลังจากการเก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการผลิต เป็นข้าวสารแล้ว รำข้าวซึ่งใช้ทำน้ำมันรำ สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ ส่วนแกลบและฟางข้าว ก็สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้อีก สำหรับ อ้อย กากอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล รวมถึงใบอ้อยและยอดอ้อย สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนกากน้ำตาล ยังนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้อีก
ด้าน มันสำปะหลัง สามารถนำหัวมันสดไปสกัดเป็นเอทานอล และเหง้ามันที่เหลือทิ้งอยู่จำนวนมาก สามารถพัฒนาเป็นเชื้อเพลิง ใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ ส่วน ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเราสามารถผลิตไบโอดีเซลได้จากน้ำมันปาล์มดิบ ยังมีกาก กะลา ทะลายปาล์มเปล่า และใบปาล์ม ที่ใช้ผลิตพลังงานและไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งต้น ยางพารา ก็มีเศษไม้ รากไม้ กิ่งไม้ สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด
โดยเชื้อเพลิงเหล่านี้ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ใบและยอดอ้อย ฟางข้าว ปาล์ม รากและกิ่งไม้ต่างๆ รวมถึงเหง้ามัน ในปีหนึ่งๆ มีปริมาณประมาณ 36.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าความร้อน 329 ล้านกิกะจูล ซึ่งเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้า ได้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับมีถ่านหินประมาณ 16 ล้านตัน หรือเทียบเท่าน้ำมันเตาประมาณ 8,200 ล้านลิตร
สำหรับที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการส่งเสริมการนำผลผลิตการเกษตร มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานชีวมวลในผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าจำนวน 38 โครงการ ที่ขายไฟเข้าระบบแล้ว คิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 304 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้า ที่รอการขายไฟเข้าระบบอีกจำนวน 19 โครงการ ซึ่งคิดเป็นปริมาณการขายไฟเข้าระบบอีกจำนวน 199 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะนำพลังงานจากพืชมาส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนน้ำมัน ดังนี้
แก๊สโซฮอล์ หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นการผสมระหว่างน้ำมันเบนซินออกเทน 91 กับ เอทานอล ที่สกัดจากพืช (อ้อย มันสำปะหลัง) โดยนำเอทานอลมาใช้ทดแทนสารเพิ่มค่าออกเทน (MTBE) ในน้ำมันเบนซิน ทำให้มีคุณสมบัติ เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน 95 เหมือนเดิม แต่มีราคาถูกกว่า 50 สตางค์ต่อลิตร โดยตั้งเป้าหมายผลิตเอทานอล ให้ได้ปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2547-2549 และเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2550 - 2554
ไบโอดีเซล หรือ เชื้อเพลิงที่ได้จากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ ที่ผ่านกระบวนการผสมให้ทำปฏิกิริยากับ เมทานอล หรือเอทานอล จนเกิดเป็นสารเอสเตอร์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง และสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ ไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด โดยมีเป้าหมายแรก ที่จะส่งเสริมการใช้ในกลุ่มผู้ขับรถบรรทุก และมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ที่จะใช้ในเครื่องจักรกลด้านการเกษตร หรือใช้ร่วมกับแก๊สธรรมชาติในรถยนต์ของ ขสมก. เป็นต้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโครงการนำร่อง เพื่อใช้ในรถยนต์สองแถว ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ประมาณ 1,000 คัน.
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อนำวัสดุจากเศษพืชผล มาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพราะเล็งเห็นความสำคัญ ของประเทศที่มีพื้นฐานในด้านการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากรในประเทศ ที่มีอยู่อย่างยั่งยืน อันจะช่วยประเทศประหยัดทั้งพลังงาน ประหยัดเงินตราต่างประเทศ และประหยัดสุขภาพ เพราะการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดได้
........................................
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เบอร์ติดต่อ 0-2612-1555 ต่อ 503
ตู้ ปณ. 55, ปณฝ. งามวงศ์วาน กทม. 11001 |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 47
เวลา 9:10:01
|
|
|