ไบโอดีเซล เชื้อเพลิงชีวภาพแห่งยุคสมัย
ในปี พ.ศ. 2544 จึงถือว่าเป็นวาระอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยของเรา มีความตื่นตัวในเรื่องของพลังงาน มีการหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมัน กันอย่างมากมาย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล (biomass) ไบโอแก๊ส (biogas) เป็นต้น แต่ที่เป็นข่าวครึกโครมมากที่สุด ในตอนนี้เห็นจะไม่มีใครเกิน ไบโอดีเซล (biodiesel) ไปได้ ในบทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ น้ำมันไบโอดีเซลว่าคืออะไร? ทำมาจากอะไร? แล้วสามารถใช้แทนน้ำมันได้จริง ๆ หรือ ?
ไบโอดีเซล คืออะไร
ไบโอดีเซลก็คือการนำน้ำมันจากพืชหรือไขมันสัตว์หรือแม้แต่น้ำมันที่ใช้แล้วอย่างน้ำมันที่ทอดไก่ หรือปาท่องโก๋มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเราอาจแบ่งไบโอดีเซลตามประเภทของน้ำมัน ที่นำมาใช้ได้ออกเป็น 3 ประเภท
1. น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์
ไบโอดีเซลประเภทนี้ก็คือน้ำมันพืชแท้ๆ (เช่น น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วลิสง, น้ำมันถั่วเหลือง) หรือน้ำมันจากไขมันสัตว์ (เช่น น้ำมันหมู) ซึ่งเราสามารถเอามาใช้ได้เลยกับเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่ต้องผสม หรือเติมสารเคมีอื่นใด หรือไม่ต้องนำมาเปลี่ยนแปลงคุณ สมบัติของน้ำมันให้เปลืองเวลา เปลืองทรัพยากรอีก
2. ไบโอดีเซลแบบลูกผสม
ใช่แล้วครับ ลูกผสม ไบโอดีเซลชนิดนี้เป็นลูกผสมระหว่างน้ำมันพืช (หรือสัตว์) กับ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล หรืออะไรก็ได้เพื่อให้ไบโอดีเซลที่ได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลให้มากที่สุด อย่างเช่น โคโคดีเซล (coco-diesel) ที่ อ.ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์นั่นแหละครับ ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันก๊าด หรือปาล์มดีเซล (palm-diesel) เป็นการผสมระหว่างน้ำมันปาล์มกับน้ำมันดีเซล
3. ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์
อันนี้ โกอินเตอร์ครับ เป็นความหมายของไบโอดีเซลที่แท้จริงที่เมืองนอกเมืองนาเขาใช้กันทั่วไป อย่างเช่น ในเยอรมัน สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่มาเลเซีย ดังนั้น ถ้าพูดถึงคำว่า ไบโอดีเซล ในความหมายของสากลเขาจะหมายถึง ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์นี่เอง แน่นอนครับ เมื่อเป็นอินเตอร์ก็ต้องยุ่งยากหน่อย สำหรับไบโอดีเซลประเภทนี้ต้องผ่าน กระบวนการแปรรูปด้วยกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) เสียก่อนครับ นั่นคือ การนำเอาน้ำมันพืชหรือสัตว์ที่มีกรดไขมันไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์โดยใช้กรดหรือด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้ได้เอสเทอร์ โดยจะเรียกชนิดของไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์ตามชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา
ไบโอดีเซลชนิดเอสเทอร์นี้มี คุณสมบัติที่เหมือนกับน้ำมันดีเซลมากที่สุด ทำให้ไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์ครับ เราสามารถนำมาใช้กับรถยนต์ได้ แต่ปัญหาที่จะมีก็คือต้นทุนการผลิตที่แพงนั่นเอง
ทำไมต้องไบโอดีเซล
โดยสรุปข้อดีของไบโอดีเซลในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือ ราคาถูก ช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรของไทย ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ข้อดีในด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตก็คือ ช่วยลดมลพิษในอากาศ ทำให้ลดการสูญเสียจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับมลพิษจากอากาศ เป็นต้น
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือด้วยกระแสที่ดังกระฉ่อนของไบโอดีเซลในตอนนี้ ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก หลาย ๆ ค่าย ออกมาประกาศรับรองว่าสามารถใช้ไบโอดีเซลกับรถที่ออกมาจากค่ายนั้น ๆ ได้โดยไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์ครับ ผมขอยกตัวอย่างแค่ 2 ค่าย ค่ายแรกก็เป็นค่ายสุดดังที่ผลิตรถสุดหรูจากแถบยุโรป ที่มีชื่อว่าเมอร์เซเดสเบนซ์ และอีกค่ายหนึ่งก็เป็นค่ายสุดคลาสสิกที่เป็นเจ้าของรถรูปทรงประหลาดโฟล์คเต่าและบีทเทิลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นามว่าโฟล์คสวาเก้น
ข้อดีข้อเสียของไบโอดีเซล (เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล)
ไบโอดีเซลแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลปกติ จะเป็นอย่างไรบ้างไปดูกันครับ
น้ำมันพืชหรือสัตว์
พวกน้ำมันพืชหรือสัตว์พันธุ์แท้นี้ปัญหาเยอะหน่อยครับ เนื่องจากคุณสมบัติของมันต่างกับดีเซลค่อนข้างมาก อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เลยมีปัญหาเรื่องการสันดาปไม่สมบูรณ์ เครื่องสะดุด มีผลต่อลูกสูบและวาล์ว มีตะกรันขาวหลงหาทางออกไม่ได้อยู่ในถังน้ำมัน แล้วก็หนืดครับ ความหนืดสูงที่อุณหภูมิต่ำลงทำให้ จากที่สตาร์ตไม่ค่อยจะติดอยู่แล้วกลายเป็นไม่ติดไปเลยในที่อากาศเย็นๆ แต่มีข้อดีก็คือมันมีราคาถูกครับ พอใช้ได้กับเครื่องยนต์รอบต่ำ แต่ก็ไม่ค่อยนิยมใช้กัน
ไบโอดีเซลลูกผสม
เนื่องจากไบโอดีเซลประเภทนี้เกิดจากการผสมกันระหว่างน้ำมันพืชและน้ำมันปิโตรเลียม ทำให้ลดปัญหาเรื่อง ความหนืดลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาตอนที่อากาศเย็นๆ อยู่ดี แล้วก็ปัญหาเรื่องการอุดตันของเครื่องยนต์คือ ไส้กรองจะอุดตันเร็วกว่าปกตินั่นแหละครับ แต่สำหรับปัญหาอื่นๆ ไม่มีคุณสมบัติส่วนมากจะเหมือนกับน้ำมันดีเซล เครื่องจะเดินเรียบไม่มีปัญหาเรื่องสะดุดกุกกักเหมือนแบบแรก เครื่องสตาร์ตติดง่าย (แต่อาจต้องมีการอุ่นน้ำมันนิดนึง ก่อนนะครับ ดูในหัวข้อการพัฒนาเครื่องยนต์) เหมาะสำหรับการใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำ หรือเครื่องจักรกลการเกษตร
ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์
อันนี้ อย่างที่บอกครับว่าโกอินเตอร์ ถ้าไม่เจ๋งจริง คงไม่อยู่ในระดับอินเตอร์แน่ครับ ข้อดีอันแรกคือค่าซีเทน (cetane ค่าดัชนีการจุดติดไฟ) สูงกว่าน้ำมันดีเซล นั่นคือจุดติดไฟได้ง่ายกว่าน้ำมันดีเซล ทำให้การจุดระเบิดทำได้ดี การสันดาปสมบูรณ์ คาร์บอนมอนอกไซด์ก็เลยน้อย ไม่มีควันดำและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม ความหนืดคงที่ ก็เลยตัดปัญหาเรื่องความหนืดออกไปได้ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันคือมันแพงครับ ต้นทุนสูงกว่าไบโอดีเซลแบบอื่นๆ เครื่องยนต์ให้กำลังต่ำกว่าน้ำมันดีเซล มีการสร้างแก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เพิ่มขึ้น แล้วก็อาจต้องดัดแปลงส่วนประกอบของเครื่องยนต์ที่เป็นยาง (rubber) ซึ่งอาจถูกทำลายโดยไบโอดีเซล แต่ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์นี้ใช้กับเครื่องยนต์รอบสูงอย่างรถยนต์ได้
อนาคตของไบโอดีเซล ในประเทศไทย
ถ้าหากผลการวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่กำลังศึกษากันอยู่ขณะนี้ ออกมาว่าไบโอดีเซลไม่มีปัญหาด้าน ผลกระทบต่อเครื่องยนต์ในระยะยาว ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐแล้วล่ะครับ ว่าจะส่งเสริมการผลิตจริงจังมากน้อยแค่ไหน แม้ไบโอดีเซลจะทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลได้ไม่หมด แต่แม้เพียงปันส่วนแบ่งการตลาดได้สักร้อยละ 10 ก็ถือว่ามีมูลค่ามหาศาลแล้วครับ ผลดีที่เห็นเด่นชัดนอกเหนือจากราคาที่ถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลปกติแล้ว การลดมลพิษทางอากาศและการพึ่งพาทรัพยากรของเราเองจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผลดีต่อ เกษตรกรไทยอย่างมาก
ไบโอดีเซล จึงน่าจะเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งแห่งความหวังของไทยเราได้ในอนาคต
โดย..ป๋วย อุ่นใจ/สยาม ภพลือชัย
http://www.ethanol-thailand.com/ |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 47
เวลา 9:24:42
|
|
|