มะกันหันใช้ก๊าซ LNGแทนน้ำมัน เจอวิกฤตราคาพุ่งตามน้ำมัน
มะกันเบนหาก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทางเลือกเลี่ยงภาวะวิกฤตราคาน้ำมันโลก คาดดันราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่กระทรวงพลังงานชี้การผลิตก๊าซมีเพียงพอรองรับดีมานด์ในประเทศได้ไม่เกิน 20 ปี ด้านนักวิเคราะห์ออกโรงแนะให้เร่งสร้างศูนย์ปฏิบัติการก๊าซธรรมชาติเหลว ไว้รองรับการนำเข้าจากต่างประเทศก่อนสายเกินแก้
กระทรวงพลังงานสหรัฐ รายงาน สภาวะวิกฤติราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มผลักดันให้สหรัฐหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ จากที่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 57% ของปริมาณความต้องการรวมในประเทศ ขณะที่ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพียง 16% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านท่อส่งจากแคนาดา อย่างไรก็ตามภายในปี 2568 คาดว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาตินี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 37% หรือคิดเป็นปริมาณ 31.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี เทียบกับปี 2545 อยู่ที่ 22.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
สาเหตุที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากโรงงานผลิตไฟฟ้าหันไปใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดกว่าเชื้อเพลิงธรรมชาติประเภทอื่น ประกอบกับภาวะกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบ 20 ปี และรัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยว่า กำลังการผลิตที่มีอยู่ในประเทศอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค
ขณะที่ในแคนาดา อาจมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศมากขึ้นกว่าการส่งออก เนื่องจาก มีการพัฒนาการผลิตน้ำมันจากน้ำมันดิบที่เกาะอยู่ในเม็ดทราย (tar sand) ในรัฐอัลเบอร์ต้าของประเทศ ซึ่งต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเข้าไปช่วยในการผลิตด้วย
ด้านนาย ดาวิด นิสเซน ผู้อำนวยการโครงการบริหารจัดการและวางแผนนโยบายพลังงานแห่งชาติจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แนะให้รัฐบาลพิจารณาพลังงานก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ L.N.G. (liquefied natural gas) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งก็คือ ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการทำให้เป็นของเหลวเพื่อสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ เมื่อต้องการใช้ก็นำมาผ่านกระบวนการคืนสถานะเป็นก๊าซอีกครั้งก่อนจะส่งผ่านท่อไปยังผู้ใช้
ปัจจุบันสหรัฐมีการนำเข้าก๊าซ L.N.G. เพียง 2% ของก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าทั้งหมด ขณะที่ประเทศที่ส่งออกก๊าซ L.N.G. มากที่สุดส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีบ่อน้ำมันซึ่งมักมีก๊าซรวมอยู่ด้วย ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ และประเทศในแถบตะวันออกกลาง, รัสเซีย และประเทศที่อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีอยู่ประมาณ 75% ของแหล่งก๊าซธรรมชาติทั่วโลก แต่หนทางในการนำก๊าซ L.N.G. มาใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างจริงจังอาจไม่ง่ายนัก เมื่อพิจารณาจากต้นทุนในการสร้างโรงงานแปลงสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เรือพิเศษที่ใช้ขนส่งก๊าซเหลว ก็มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนคลังที่ใช้เปลี่ยนก๊าซจากของเหลวให้เป็นก๊าซอีกครั้ง ก็มีงบในการสร้างอีก 300-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้เวลาในการสร้างถึง 40-42 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตก๊าซ L.N.G. แล้วจะพบว่า ผู้ผลิตยังมีการเคลื่อนไหวไม่เร็วพอเพื่อให้ทันกับความต้องการในประเทศ ดังนั้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเชื้อเพลิงในสหรัฐ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงไปอีกระยะหนึ่ง
Date 23 สิงหาคม 2004
Source http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T1019336&issue=1933 |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 47
เวลา 9:31:41
|
|
|