วิกฤติน้ำมันป่วนชาติ "ตรึงราคาดีเซล" บ่วงรัดคอรัฐ!
จากภาวะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลภายใต้การนำ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รู้สึกเคร่งเครียดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากกระเป๋าได้ฉีกกระจุยกระจาย จากความพยายามในการจะตรึงราคา น้ำมันไม่ให้แพงหูฉี่ เพราะหวั่นเกรงว่า ราคาน้ำมันที่สูงทะลัก จะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน
โดยตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ถึงวันที่ 23 ส.ค. ปีนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐได้ใช้เงินหมด ไปแล้วกว่า 26,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมัน โดยรัฐบาลมีเจตนาดีที่จะแบกรับภาระ แทนประชาชน
แม้ว่าขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า รัฐจะเลือกนโยบายลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน โดยปล่อยให้ราคาน้ำมันเบนซินเป็นไปตามภาวะตลาดโลก แต่ในส่วนของน้ำมันดีเซล รัฐจำเป็นต้องกัดฟันตรึงราคาขายปลีกต่อไปจนถึงต้นปี 2548 เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต้องสะดุดกึก
จึงคาดว่าจนถึง สิ้นเดือน มี.ค.2548 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องใช้เงิน เพื่อตรึงราคาน้ำมัน รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท!!
อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้กองทุน น้ำมันเชื้อเพลิง ต้องบักโกรกไปมากกว่านี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งออกมาตรการ การประหยัดพลังงานออกมาอีกชุดใหญ่
แน่นอนว่าในหลายๆมาตรการที่ออกมา จะมีทั้งแรงสนับสนุนและเสียงปฏิกิริยาที่ไม่เห็นด้วย โดยหลายฝ่ายมองว่าเกาไม่ถูกที่คัน มิหนำซ้ำยังจะสร้างปัญหาเลวร้ายตามมาอีกด้วย
อย่างเช่นล่าสุด ผลการประชุมแนวทางการ ออกมาตรการประหยัด พลังงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ นั่งเป็นประธาน เพื่อเตรียมนำเสนอการประชุม คณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปิดห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์ให้เร็วขึ้น โดยไม่แตะร้านสะดวกซื้ออย่าง ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น การปิดไฟป้ายโฆษณาในเวลา 22.00 น. และการปิดปัมน้ำมันระหว่างเวลา 24.00-05.00 น.
จนดูเหมือนเสียงวิจารณ์ดังกล่าว จะดังกลบมาตรการเชิงสร้างสรรค์ ที่ออกมาพร้อมๆ กัน เช่น การจัดการระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งระบบด้วยการใช้ตั๋วใบเดียวกัน ตลอดจนการจัดหาที่จอดรถ ให้แก่ประชาชนที่จะหันมาใช้ ระบบขนส่งมวลชนของรัฐ เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้มาตรการประหยัดพลังงาน ที่รัฐเตรียมจะคลอดในวันที่ 24 ส.ค.นี้ สามารถออกมาอย่างมีประสิทธิผล "ทีมเศรษฐกิจ" จึงขอเป็นกระจกสะท้อนมุมมอง หลากหลายจากภาคเอกชนต่อมาตรการประหยัดพลังงาน
สนองเจตนารมณ์ของรัฐที่ได้ตั้งใจโยนก้อนหินถามทาง... รัฐย้ำ ได้มากกว่าเสีย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวเปิดใจถึงการที่รัฐ จะออกมาตรการ ประหยัดพลังงานครั้งนี้ว่า มาตรการบางอย่างยังเป็น การโยนก้อนหินถามทา เพื่อดูความเห็นของภาคเอกชน ประชาชน แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาล จะยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปจนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโต ของเศรษฐกิจของประเทศ ไว้ที่ระดับ 6% ได้ นอกจากนี้ยังเพื่อรักษาระดับ ราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคของประชาชน ยังคงดำเนินต่อไปได้ และยังเพื่อคุม ไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนมาตรการการปิดปั๊มน้ำมันในเวลา 24.00-05.00 น. รวมทั้งปิดดิสเคาต์สโตร์ 22.00 น. และห้างสรรพสินค้าในเวลา 20.00 น. นั้น ต้องยอมรับว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่ง แต่จะทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน และทำให้ประชาชนเกิดการประหยัดน้ำมันด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณามาตรการประหยัดพลังงานโดยรวมแล้ว จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย "เพราะหากปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแค่ลิตรละ 1 บาท ตลาดหุ้น ก็จะได้รับผลกระทบ ทันที"
ส.อ.ท.คว่ำบาตรลอยตัวดีเซล
ผู้ประกอบการภาคเอกชนส่วนใหญ่ จะมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับรัฐ โดยสนับสนุนให้มีการตรึง ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลต่อไป อย่างน้อยก็ถึงต้นปีหน้า เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุน ได้อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งคือค่าขนส่ง ขณะที่ในส่วนของน้ำมันเบนซินนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่รัฐประกาศลอยตัวราคาขายปลีก
โดยนายสันติ วิลาสศักดิ์ดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรลอยตัวราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน เพราะผู้ใช้เบนซินเป็นกลุ่ม ที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ก็เห็นด้วยที่รัฐจะตรึงราคา ไปจนถึงต้นปีหน้า "แต่หากจำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจริงๆ รัฐบาลก็ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชน ทราบว่าจะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 50 สต.ต่อลิตร และปรับขึ้นเดือนต่อเดือน แทนการปรับทุกสัปดาห์เหมือนราคาเบนซิน เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวเผชิญกับราคาน้ำมันดีเซล และรัฐบาลต้องควบคุมพวกฉวยโอกาสอ้างว่าต้นทุนราคาดีเซลเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มเป็นลูกโซ่ และจะมาสะท้อนในต้นทุนสินค้า เพราะหลายๆ กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต ส่วนใหญ่มักจะอ้างขอขึ้นราคาตามราคาน้ำมันทันที อาทิ ร้านอาหาร เป็นต้น"
นายสันติกล่าวย้ำว่า การตรึงราคาน้ำมันก็มีผล ทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือ ช่วยตรึงราคาสินค้าไม่ให้ขึ้น แบบก้าวกระโดด ส่วนด้านลบก็คือ คนไทยยังรู้สึกว่ายังไม่จำเป็น ต้องประหยัดน้ำมัน เพราะราคายังถูกตรึงโดยรัฐบาล
นักวิชาการ-นายแบงก์สวนควันปืน
ดูเหมือนว่าความพยายาม ของรัฐในการตรึงราคาน้ำมัน โดยเฉพาะการกัดฟันยืนราคา ดีเซลไปถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องบักโกรกมากขึ้นนั้น กลับไม่ได้รับ แรงสนับสนุน จากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และนายธนาคาร
โดยเห็นว่าการตรึงราคาดังกล่าว นอกจากจะไม่ทำให้ประชาชน ได้ตระหนักในสถานการณ์ที่แท้จริง จนไม่เกิดความสำนึก ในการประหยัดน้ำมันแล้ว การที่รัฐใช้เงินมาอุ้มราคาน้ำมัน จนกระเป๋าฉีกยังจะก่อให้เกิดผลเสีย ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายตามมาอีกด้วย
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ พี่เบิ้มวงการธนาคาร ในไทย กล่าวเตือนสติรัฐด้วยเจตนาดีว่า การใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาลนั้น หากใช้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เห็นด้วย เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า แต่หากจะลากยาวตรึงราคาไปจนถึงเดือน มี.ค.2548 จะทำให้ประเทศไทยกลับตัวลำบาก วงเงินที่ต้องนำมาตรึงราคาจะสะสมพอกพูนขึ้นมา เป็นอันตรายสำหรับภาวะเศรษฐกิจ
"รัฐบาลควรยุติการตรึงราคาดีเซลได้แล้ว จากนั้นก็ต้องหันมาเร่งปลุกจิตสำนึกคนทั้งประเทศให้เห็นถึงความสำคัญการประหยัดน้ำมัน และการสร้างวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายของประชาชน"
ด้านมือหนึ่งวงการพลังงานของไทยอย่างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวว่า การตรึงราคาน้ำมันที่รัฐบาลได้ทำอย่างทุกวันนี้จะส่งผลเสียต่อเนื่อง เพราะประชาชนจะไม่รู้จักการประหยัด ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น และยังไม่มีใครบอกได้ว่ารัฐบาลจะต้องทุ่มเม็ดเงินไปอีกเท่าใด
"การตรึงราคาน้ำมันยังสร้างความไม่ชัดเจนในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ เพราะท้ายที่สุดรัฐก็ต้องหาเงินไปใช้หนี้ที่ตรึงราคามาก่อนหน้านี้"
นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงมาตรการประหยัดน้ำมันที่รัฐบาล จะประกาศใช้นั้น ถือเป็นมาตรการที่ผิดที่ผิดทาง อาจไม่ได้เกิดผลต่อการประหยัดพลังงาน ไม่ทำให้การบริโภคน้ำมันของประชาชนลดลง เช่น การปิดปั๊มน้ำมันหลังเที่ยงคืน เพราะประชาชนก็จะแห่มาเติมน้ำมันไว้ล่วงหน้าก่อนปั๊มปิด ขณะที่การปิดห้างสรรพสินค้า ดิสเคาต์สโตร์ และปิดไฟป้ายโฆษณา ก็แก้ไม่ถูกจุด เพราะสิ่งที่จะลดลงไปให้เห็นในทันที ที่เริ่มใช้มาตรการนี้ คือ การลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนสำคัญของการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้มาจากน้ำมัน แต่มาจากก๊าซธรรมชาติคิดเป็นกว่า 75% ของเชื้อเพลิงรวม
"ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันว่า หากปิดห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคาต์สโตร์เร็วขึ้น จะช่วยการประหยัดน้ำมัน เพราะเมื่อห้างสรรพสินค้าปิดเร็วขึ้น คนก็จะแห่กันไปเร็วขึ้นในช่วงหัวค่ำ ทำให้รถติด หลังเลิกงานเย็นหนักข้อ เป็นการเผาผลาญน้ำมันโดยใช่เหตุ แทนที่จะไป หลัง 19.00 น. ที่ปริมาณรถอาจจะ หนาแน่นน้อยลง"
อดีตเลขาธิการ สพช. ชี้เปรี้ยงว่า หากรัฐต้องการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ก็ควรปรับราคาขายปลีกน้ำมัน ให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด และนำระบบราคาลอยตัวมาใช้อีกครั้ง แม้ในช่วงสั้นจะมีผลกระทบต่อประชาชน และการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ ของประเทศ แต่ก็เป็นการเจ็บครั้งเดียว ดีกว่าทยอยเจ็บไปอีกหลายปี
นายปิยสวัสดิ์ยังสรุปเปรี้ยง ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ถึงภาวะราคาน้ำมันจะส่งผลต่อตลาดหุ้น และการลงทุนของไทยมากน้อยเพียงไร ว่า นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
"ดังจะเห็นได้ว่าแม้ว่าไทยจะตรึงราคาน้ำมัน แต่ดัชนีตลาด หลักทรัพย์ก็ลดลงมากกว่าในประเทศอื่นที่ไม่ได้ตรึงราคาน้ำมัน"
ปิดห้างป่วนคนตกงานทะลัก
ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ๆ ถึงมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลที่เตรียมจะกำหนด ให้ห้างสรรพสินค้าและดิสเคาต์สโตร์ปิดเร็วขึ้นกว่าปกติ 2 ชั่วโมง ขณะที่ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นสามารถเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าเป็นมาตรการที่ไม่มีความยุติธรรม ทั้งยังจะส่งผลเสียมากกว่าผลได้
โดยส่วนใหญ่ต่างเห็นว่า การสั่งปิดห้างสรรพสินค้าเร็วขึ้นนั้น ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งไม่มีประเทศไหนๆในโลกที่สั่งปิดห้างฯเวลา 20.00 น. เพื่อลดปัญหาการใช้พลังงาน การดำเนินการดังกล่าวถือว่าขัดต่อนโยบายของรัฐด้วยที่ต้องการให้เมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯเป็นเมืองแฟชั่น เป็นแหล่งช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยว เชื่อว่าประเทศจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากแน่นอน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะไม่เข้าเมืองไทยและจะหันไป ช็อปปิ้งในประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซียแทน
นอกจากนี้ การสั่งปิดห้างฯก่อนเวลาปกติ 2 ชั่วโมง จะต้องมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เพราะปกติห้างฯเปิดทำการเวลา 10.00-22.00 น. มีการทำงาน 2 กะ ซึ่งเฉลี่ยต่อสาขามีจำนวนพนักงานมากถึง 10,000-20,000 คน หากลดเวลาปิดห้างฯลงเป็น 20.00 น. ก็ต้องลดเวลาทำงานลงเหลือ 1 กะ
ซึ่งจะทำให้ต้องลดจำนวนพนักงานลงถึงครึ่งหนึ่ง!!
ใช่ว่าจะมีเพียงประเทศไทยที่ขมีขมัน คลอดมาตรการประหยัดพลังงาน ออกมารับมือกับภาวะราคาน้ำมันแพง ระยับในขณะนี้
เพราะประเทศทั่วโลกต่างก็เดินเครื่อง ประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มียอดนำเข้าน้ำมันสูงถึง 2 ใน 3 ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมด ทำให้ราคาน้ำมันกลายเป็นปัจจัย สำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ และดันเงินเฟ้อให้ทะยานสูงขึ้นเกินจำเป็น
เริ่มตั้งแต่จีน ประเทศที่มีปริมาณ การใช้น้ำมันเป็นอันดับ 2 ของโลก และยอดนำเข้าน้ำมัน 7 เดือนแรกของปี ขยายตัวไปแล้วถึง 40% เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองปักกิ่งประกาศให้พนักงานบริษัท 6,400 แห่งทั่วเมือง หมุนเวียนกันหยุดงานระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค. โดยไม่มีการตัดเงินเดือน นอกจากนั้นยังกำหนดให้โรงแรมทั่วไป คงอุณหภูมิในห้องพักไว้ไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส
ส่วนเมืองเซี่ยงไฮ้ ใช้มาตรการปิดไฟประดับสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน จากปกติเมืองศูนย์กลางการเงินของจีนแห่งนี้จะตกแต่งด้วยไฟ เพื่อสร้างภูมิทัศน์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว
อินเดีย ประเทศผู้ใช้น้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากการปรับลดอากรผลิตภัณฑ์น้ำมันลง เมื่อวันที่ 18 ส.ค. รัฐบาลยังกำลังศึกษาการนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้กับไฟถนน และกระตุ้นการใช้พลังงานทดแทนอย่างเอทานอลและไบโอดีเซลอย่างขะมักเขม้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ได้เริ่มแคมเปญโปรโมตการใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ในรถแท็กซี่ไปแล้ว
เกาหลีใต้ รัฐบาลกำลังพิจารณาให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์การประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีการตั้งประเด็นเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน 4 รายใหญ่ในเกาหลี ว่ามีการฮั้วราคากันเพื่อทำกำไรหรือไม่ ทำเอาผู้ค้าน้ำมันต้องออกมาเรียงหน้าปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่าภาษีน้ำมันที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 65% ของราคาขายขณะนี้นั้น ตัดโอกาสทำกำไรของผู้ค้าไปหมดสิ้นแล้ว
เวียดนาม มีแผนที่จะขึ้นราคาค้าปลีกน้ำมันอีก 10% หากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงกว่าบาร์เรลละ 50 เหรียญสหรัฐฯ แถมยังมีมาตรการให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานราชการทั้งหมดลดการใช้พลังงานลง 10% ในปีนี้และ 20% ในปีหน้า
ขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียที่เหลือ ส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนาพลังงานทดแทน อาทิ ลาว ที่จะเร่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อขายให้แก่ไทย มาเลเซีย เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ฟิลิปปินส์ วางแผนเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ให้เพิ่มขึ้นเป็น 60% จาก 37% ในปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าที่จะผันตัวเองเป็นผู้ผลิตพลังงานลม ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ควบคู่ไปกับการเป็นผู้นำในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เร่งพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ทำจากขยะจากอินทรีย์สาร เช่น เปลือกข้าว ชานอ้อย
หันไปดูประเทศพัฒนาแล้วกันบ้าง ญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศ ที่ก้าวล้ำด้าน การประหยัดพลังงาน ที่สุดในเอเชีย ไม่ได้ มีมาตรการอะไรโดดเด่น เพราะปลูกฝังการประหยัด พลังงานกันมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70
แต่ล่าสุดที่เมืองฮอกไกโด บริษัท ชั้นนำกว่า 20 แห่ง ได้ตกลงที่จะปรับนาฬิกา ให้เร็วขึ้นในช่วงหน้าร้อน เพื่อให้พนักงานเลิกงานได้ก่อนเวลาปกติ 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการเปิดไฟไปได้อีกทาง
เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งทุ่มงบรณรงค์การประหยัดพลังงาน ก้อนล่าสุด 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กระตุ้นให้ประชาชนใช้รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่างประหยัด โดยแคมเปญที่ออกมาชี้ให้เห็นชัดว่า การใช้รถเครื่องยนต์ไฮบริด จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ
เพราะสถานการณ์น้ำมันถูกประกบด้วยข่าวร้อนไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ข่าวการโจมตีที่สุดดุเดือดในอิรัก การล้มละลายของยูคอส บริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย และล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งออกมาปฏิเสธการนำน้ำมันในคลังสำรองออกมาใช้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยลบดันราคาน้ำมันพุ่งไม่รู้จบ
ด้วยเหตุนี้ประเทศน้อยใหญ่ต่างไม่มีทางเลือก นอกจากรัดเข็มขัด ประหยัดน้ำมันกันอย่างเต็มที่!!!
Date 23 สิงหาคม 2004
Source http://www.thairath.co.th/thairath1/2547/scoop/economic/aug/23/s_economic.php |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 47
เวลา 9:36:14
|
|
|