บทความพลังงาน

ไฟฟ้าสว่างทั่วทิศ 
[ ตอบกระทู้นี้เพิ่ม คลิกที่นี่ ]

ไฟฟ้าสว่างทั่วทิศ

ที่บอกว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของบ้านเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็มีไม่น้อย ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เรื่องนี้ภาครัฐได้มีการดูแลอย่างไรบ้าง

ตอบ

ปัจจุบันเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้ในปี 2548 ประชาชนทุกครัวเรือนจะต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งโดยปกติ การดำเนินการขยายการใช้ไฟฟ้าไปยังบ้านเรือน ภาครัฐโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้ทำการขยายบริการไฟฟ้าในพื้นที่ ที่สามารถทำการขยายบริการไฟฟ้า โดยวิธีการปักเสา และพาดสายไฟฟ้าได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศ พบว่าในส่วนของพื้นที่ห่างไกล ที่การไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง หรือไม่สามารถปักเสา และพาดสายไฟฟ้าไปได้นั้น ทั้งนี้ด้วยสาเหตุของความห่างไกล จากสายส่งเป็นจำนวนมาก ความไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการ หรือการไม่สามารถเข้าไปปักเสาได้ เพราะอยู่ในเขตป่าเขา เกาะต่างๆ หรือในอุทยานแห่งชาติ ขณะนี้พบว่ามีอยู่ประมาณ 500,000 ครัวเรือน

ดังนั้น จากเหตุผลข้างต้น เพื่อให้พื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้ ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็ได้มีการดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ เกาะตะรุเตา ซึ่งได้มีการติดตั้ง ทั้งระบบโซลาร์เซลล์ และกังหันลม เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ให้ประชาชนบนเกาะ เป็นต้น

และเพื่อเป็นการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นคง ให้กับระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาดกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 187.11 ล้านบาท เป็นการดำเนินการ และได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นจำนวนถึง 163.36 ล้านบาท ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการก่อสร้างอีกจำนวน 23.75 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดเป็นแหล่งสาธิตการใช้พลังงานทดแทนที่สะอาด เพื่อการศึกษา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจะเป็นต้นแบบกระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ยังได้ดำเนินโครงการ "เร่งรัดขยายบริการไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์" (Solar Home System Project) แบ่งระยะเวลาการดำเนินงาน ออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ปี 2547 ตั้งเป้าการติดตั้งให้ได้ จำนวน 153,000 ครัวเรือน และช่วงที่ 2 ปี 2548 ตั้งเป้าการติดตั้งให้ได้จำนวน 137,716 ครัวเรือน งบประมาณรวม 7,600 ล้านบาท

โดยการดำเนินการครั้งนี้ ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง เฉลี่ยครัวเรือนละ 25,000 บาท พร้อมกับเดินสายภายในบ้านให้ฟรีทั้งหมด ซึ่งระบบดังกล่าว จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า ได้ประมาณ 120 วัตต์ เป็นเวลา 4 ชั่วโมง/วัน หรือสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ในหลอดไฟฟ้า (ฟลูออเรสเซนต์) ขนาด 10 วัตต์ ได้จำนวน 2 หลอด และโทรทัศน์สี ขนาด 14 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง

ทั้งนี้บ้านอยู่อาศัยที่สนใจสามารถติดต่อขอรับการติดตั้งได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเป็นบ้านอยู่อาศัย ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพิจารณา หรือเป็นบ้านอยู่อาศัยที่ กฟภ. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการปักเสาพาดสายได้ ซึ่งขณะนี้ กฟภ. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ Solar Home ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ในระหว่างการทยอยติดตั้งระบบ Solar Home ให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การดำเนินการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ให้กับประชาชนทั่วประเทศนั้น ถือเป็นนโยบายที่ภาครัฐตั้งใจจริงในการให้ประชาชน ทุกครัวเรือน ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งด้วยวิธีดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างความมั่นคง ให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชน และทำให้ได้ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงสะอาดอีกด้วย

........................................

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เบอร์ติดต่อ 0-2612-1555 ต่อ 503
ตู้ ปณ. 55, ปณฝ. งามวงศ์วาน กทม. 11001

จากคุณ Wit-Tha-Ya เมื่อวันที่ 3 กันยายน 47 เวลา 9:57:30


รูปภาพ (.gif และ .jpg เท่านั้น) :
คำตอบ :
  ชื่อ :

 

Copyright © 2002-3 All Rights Reserved.  King Mongkut's University of Technology Thonburi