เอทีซีมองราคาปิโตรเคมีขาขึ้นไปอย่างน้อย 2-3 ปี
กรุงเทพฯ 29 ก.ย. เอทีซีมองราคาปิโตรเคมีเป็นช่วงขาขึ้นไปอย่างน้อย 2-3 ปี ส่งผลการลงทุนโรงงานใหม่ 650 ล้านเหรียญอาจไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม และปีนี้มั่นใจปันผลแน่นอน
นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ เอทีซี กล่าวว่า จากการพิจารณาการแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท ทางบริษัทอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อขยายการลงทุนในโรงงานอะโรเมติกส์ โรงที่ 2 วงเงิน 650 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากคาดว่าจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยบริษัทมีรายได้ ประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าบริษัทน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจาก ราคาอะโรเมติกส์ น่าจะทรงตัวในระดับสูง ไปอีก 2-3 ปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะจากจีนยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นการเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป โดยล่าสุดราคาพาราไซลีนปรับเพิ่มมาอยู่ 960 เหรียญสหรัฐต่อตัน เบนซีน กว่า 1,000 เหรียญต่อตัน
จากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น คาดว่ารายได้ของบริษัทในไตรมาสที่ 3 จะสูงกว่า รายได้ในครึ่งแรกของปีนี้ที่มีรายได้รวม 20,070 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ไตรมาสที่ 4 จะมากกว่าไตรมาส 3 โดยปีนี้คาดว่าจะมีการปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ด้วยนายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการ งวด 6 เดือนแรกของปี 2547 บริษัทมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 2,531.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 1,748.65 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 782.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.76 เนื่องจากบริษัทมีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจาก 1,527 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมาเป็น 3,279 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปีนี้ หรือปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 115.
โครงการอะโรเมติกส์แห่งที่ 2 จะมีกำลังผลิตพาราไซลีน 600,000 ตัน เบนซีน 300,000 ตัน จากกำลังผลิตโรงงานปัจจุบันพาราไซลีน 490,000 ตัน และเบนซีน 450,000 ตัน วางแผนจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2548 และก่อสร้างเสร็จสิ้นประมาณปี 2551 รองรับความต้องการ ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตโดย มองว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เฉียงเหนือยังอยู่ในภาวะขาดแคลนผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ทั้งนี้ แนวโน้มระหว่างปี 2547 ถึง 2551 ภาวะตลาดของ ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะขาดแคลน ซึ่ง คาดว่าในปี 2551 จะขาดแคลนพาราไซลีนสูงถึงประมาณ 2 ล้านตัน ในขณะที่ตลาดอะโรเมติกส์ในประเทศ ในปี 2548-2549 คาดว่าจะขาดแคลนพาราไซลีน ประมาณปีละ 400,000 ตัน เนื่องจาก บริษัท สยาม มิตซุย พีทีเอ จำกัด และ Indorama มีแผนจะสร้างโรงงานและขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์พีทีเอซึ่งต้องใช้ พาราไซลีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตจากภาวะดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท เล็งเห็นโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิต
นอกจากนี้ หลังจากที่โรงงานไซโคลเฮกเซน ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีต่อเนื่องในเครือฯ เริ่มเดินเครื่องผลิตกลางปี 2548 บริษัทจะได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200 ล้านบาท และในโรงอะโรเมติกส์ 2 บริษัทได้ลงทุนติดตั้งเครื่องแยกคอนเนเสต เรสสิดิวท์ เพื่อให้ได้แนฟทาเพื่อนำไปผลิตพาราไซลีน-เบนซีน ยิ่งทำให้ต้นทุนต่ำลง จนทำให้บริษัทมีต้นทุนต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น แผนที่จะทำให้เอทีซีเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูงสุดในเอเชีย ในปี 2555 จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ที่มา..สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 47
เวลา 23:40:42
|
|
|