|
คาดปีนี้กองทุนน้ำมันฯ ขาดดุลกว่า 55,000 ล้านบาท |
คาดปีนี้กองทุนน้ำมันฯ ขาดดุลกว่า 55,000 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการฐานะการขาดดุลของกองทุนน้ำมันฯ สิ้นปี 47 ขาดดุลกว่า 55,000 ล้านบาท จากมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และจะขาดดุลต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยคาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อปีหน้าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 2.7 ในปีนี้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับประมาณการฐานะการขาดดุลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สิ้นปี 2547 โดยผลที่ได้จากการคำนวณ บ่งชี้ว่ายอดขาดดุลของกองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดจากการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ภายใต้มาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐบาล ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55,300 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 31,800-35,800 ล้านบาท สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆทั้งปัจจัยพื้นฐานในตลาดและทางด้านจิตวิทยา ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงกับสถานการณ์การก่อการร้ายสากลความไม่สงบทางการเมือง และภัยทางธรรมชาติ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น
นอกจากนั้น ถ้าหากกองทุนน้ำมันฯ ต้องบริหารจัดการภาระที่เกิดจากการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันประเทศระหว่างที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง โดยที่ไม่มีการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ เลย นอกเหนือไปจากรายรับที่เกิดจากการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศให้ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาตามกลไกตลาดเท่านั้น นั่นหมายถึงยอดภาระการขาดดุลดังกล่าวก็คงจะถูกผลักกลับมาให้ผู้ใช้น้ำมันร่วมกันรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาขายปลีกน้ำมันจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอีกในปี 2548 เพื่อเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ โดยราคาขายปลีกน้ำมันถ่วงน้ำหนักในประเทศคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากปี 2547 มาที่ระดับเฉลี่ย 17.59 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอ่อนตัวลงแล้วก็ตาม โดยจากสมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงร้อยละ 7.9 มาที่ระดับเฉลี่ย 35.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2548
ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นดังกล่าว คงจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อปี 2548 ให้ปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 2.7 ในปี 2547 เช่นเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรการตรึงราคาน้ำมัน เป็นเพียงการชะลอหรือเลื่อนระยะเวลาของผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันแพงที่จะมีต่ออัตราเงินเฟ้อตลอดจนต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมออกไปเท่านั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากว่ารัฐบาลตัดสินใจยืดระยะเวลาการปรับสมดุลฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นภายใน 3 ปี ก็อาจจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มียอดขาดดุลคงเหลืออีกประมาณ 50,900 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบแล้วสำเร็จรูปในตลาดโลกจะปรับลดลงก็ตาม ซึ่งสะท้อนภาพว่า ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและอัตราเงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นได้อีกภายหลังจากปี 2548 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงดังกล่าว.
ที่มา* กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ |
จากคุณ Wit-Tha-Ya
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 47
เวลา 23:57:00
|
|
|
|
|
Copyright © 2002-3 All Rights Reserved. King Mongkut's University of Technology Thonburi |
|
|
|