บทความพลังงาน

น้ำมันโลกพุ่งทะลุ 54 ดอลล์ เบนซินส่อแววขึ้นราคาอีก 
[ ตอบกระทู้นี้เพิ่ม คลิกที่นี่ ]

น้ำมันโลกพุ่งทะลุ 54 ดอลล์ เบนซินส่อแววขึ้นราคาอีก


น้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด เลย 54 ดอลล์แล้ว รัฐบาลหมดแรงต้าน "มิ้ง"แย้มขึ้นเบนซินอีก หลังราคาน้ำมันดิบในสหรัฐฯ พุ่งเกิน 53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนดีเซลยังตรึงต่อ ล่าสุดกองทุนน้ำมันติดลบเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เผยตอนนี้อุ้มเบนซิน 91 ลิตรละ 76 สตางค์ เบนซิน 95 ลิตรละ 67 สตางค์ ดีเซลลิตรละ 5.87 บาท นายกรัฐมนตรีเปรย น้ำมันมีโอกาสแตะบาร์เรลละ 60 เหรียญสหรัฐ ด้านค่าไฟอั้นไม่อยู่ ขึ้นอีกหน่วยละ 5 สตางค์

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไลท์ครูด ของตลาดไนเม็กซ์ ในนิวยอร์ก ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดสำคัญตัวหนึ่งของน้ำมันโลก พุ่งลิ่วทะลุขีด 54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วเมื่อวานนี้(12) ขณะที่ข่าวไฟไหม้ที่ท่อส่งน้ำมันเพื่อการส่งออกของไนจีเรีย คือปัจจัยลบล่าสุดสำหรับชาติผู้บริโภค โดยเฉพาะในแถบซีกโลกเหนือ ซึ่งกำลังพยายามสะสมน้ำมันเตาไว้ให้คลังเพื่อรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังย่างกรายเข้ามา

สัญญาน้ำมันดิบชนิดไลท์ครูด (หรือบางทีเรียกกันว่า ไลท์สวีทครูด, เวสต์เทกซัสอินเทอร์มิเดียต) เพื่อการส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ทะยานทำสถิติสูงสุดที่ 54.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระหว่างการซื้อขายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ก่อนตลาดไนเม็กซ์เปิดทำการจริง นับเป็นการสร้างสถิติตัวนี้ใหม่เป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน แม้เมื่อถึงเวลาทุ่มเศษๆ ในเมืองไทย ราคาจะอ่อนลงบ้างเหลือ 54.16 ดอลลาร์ กระนั้นก็ยังสูงกว่าราคาปิดในวันจันทร์อยู่ 52 เซนต์

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งไทยนำเข้ามาใช้ในประเทศไม่ได้ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคายังอยู่ที่ 37.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศให้มีความผัวผวนมากนักและเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

"ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ตลาดจะมีราคาต่างกันประมาณ 3-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะนี้มีความผันผวนของตลาดมากเกินปกติ ราคาจึงต่างกันกว่า 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังดีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบไม่ปรับขึ้นมาก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันต่อไปอีก โดยจะไม่ปรับเปลี่ยนมาตรการเป็นรายวันตามความผันผวนของตลาดโลก โดยจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลและปล่อยให้เบนซินสะท้อนราคาที่เป็นจริง"นพ.พรหมินทร์กล่าว

สำหรับการชดเชยราคาน้ำมันของไทยตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.-12 ต.ค. รวม 278 วัน ชดเชยไปแล้ว 39,318 ล้านบาท หรือชดเชยวันละ 308.81 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เข้ามาชดเชยราคาน้ำมัน โดยขณะนี้กองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยเบนซินออกเทน 95 และ 91 ที่ 0.67 และ 0.76 บาทต่อลิตรตามลำดับ หรือชดเชยน้ำมันเบนซินรวม 15 ล้านบาทต่อวัน ส่วนดีเซลชดเชย5.87บาทต่อวัน หรือชดเชยวันละ293.78ล้านบาท

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมครม.ว่า เชื่อว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องาเร่งดำเนินการในเรื่องของการจัดทำ Road Map พลังงานทดแทน อาทิเอทานอล และไบโอดีเซล โดยเร็วที่สุด
ค่าไฟต.ค.นี้ขึ้นอีก5สตางค์

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2547 (ครั้งที่ 110) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) และมีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าเอฟที สำหรับบิลเรียกเก็บในงวดเดือนต.ค.2547 - ม.ค.2548 ที่ระดับ 43.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือปรับขึ้นจำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 2.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 2.22%

สูตรการปรับค่าเอฟทีดังกล่าว เป็นการคำนวณจากอัตราราคาเชื้อเพลิงที่มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาก๊าซธรรมชาติ สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 156 บาทต่อล้านบีทียู จากช่วงก่อน (มิ.ย.-ก.ย.47) หรือเพิ่มขึ้นอีก 4.63 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.64 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 1.75 บาทต่อลิตร และน้ำมันเตาสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.95 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 96 สตางค์ต่อลิตร ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด ก็มีอัตราการผลิตลดลง เพราะเข้าช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่

"การปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตราหน่วยละ 5 สตางค์นั้น ถือว่าต่ำกว่าอัตราค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นที่แท้จริง เพราะจริงๆ ควรจะปรับขึ้นที่ระดับ 11.42 สตางค์ต่อหน่วย แต่รัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากจนเกินไป จึงมอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด ส่งผลให้ลดค่าเอฟทีได้อย่างน้อย 2 สตางค์ต่อหน่วย"นายเชิดพงษ์กล่าว

นายเชิดพงษ์กล่าวว่า ค่าเอฟทีที่เหลืออีก 4.42 สตางค์ต่อหน่วย ได้มอบให้กฟผ. และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระในการเข้าไปดูแลรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,736 ล้านบาท ส่วนภาระค่าไฟฟ้าที่กฟผ.แบกรับภาระไปก่อนหน้านี้ 4,800 ล้านบาท ที่จะต้องเรียกเก็บคืนกับประชาชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนที่จะนำมาเรียกเก็บคืน

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2548 จะยังอยู่ในระดับสูง จึงมอบหมายให้กฟผ.และปตท.ไปจัดทำแนวทางลดภาระการผลิตไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนข้างหน้า (ก.พ.-พ.ค.48) โดยให้กฟผ.เร่งซ่อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้เสร็จเร็วที่สุด รวมทั้งให้ปตท.ลดการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นำก๊าซธรรมชาติไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าบางปะกง ลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งเจรจาลดค่าก๊าซฯกับผู้รับสัมปทานก๊าซฯในอ่าวไทย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานคณะกรรมการพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแต่ละอุตสาหกรรม คาดว่าอุตสาหกรรมเหล็ก และกระดาษจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาควบคู่กับภาวะการแข่งขัน เพราะปัจจุบันสินค้าต่างมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันรุนแรง

โดย ผู้จัดการรายวัน 13 ตุลาคม 2547 07:27 น.

จากคุณ Wit-Tha-Ya เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 47 เวลา 23:59:46


รูปภาพ (.gif และ .jpg เท่านั้น) :
คำตอบ :
  ชื่อ :

 

Copyright © 2002-3 All Rights Reserved.  King Mongkut's University of Technology Thonburi