บทความพลังงาน

ระบบสายดินเพื่อความปลอดภัย 
[ ตอบกระทู้นี้เพิ่ม คลิกที่นี่ ]

ระบบสายดินเพื่อความปลอดภัย

ไฟฟ้านั้นมีประโยชน์เอนกอนันต์ต่อชีวิตประจำวันของคนเรา แต่ในขณะเดียวกันก็มีอันตรายอันเนื่องจากการใช้ไฟฟ้าแฝงอยู่ทุกขณะ ถ้าใช้ไฟฟ้าอย่างประมาทก็อาจนำมาซึ่งความอันตรายถึงชีวิตได้ ความประมาท หรือความเพิกเฉยต่อสิ่งเล็กน้อยอาจนำมาสู่ความหายนะหรือความสูญเสียต่าง ๆ โดยที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน ไม่มีใครอยากให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการรู้จักใช้และป้องกันอันตรายอันเกิดจากการใช้ไฟฟ้า ก็ย่อมทำให้เกิดความปลอดภัยได้

การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วถูกไฟฟ้าดูดหรือซ๊อตนั้น เกิดจากการที่ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าเส้นที่มีไฟฟ้าไหลผ่านชำรุด หรือฉีกขาด เมื่อสายไฟนั้นไปสัมผัสกับผิวโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจทำให้เกิดภาวะไฟฟ้ารั่ว เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าไปสัมผัสกับจุดที่มีการรั่วของไฟฟ้าจะทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายเป็นซึ่งบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่มีการรั่วของไฟฟ้า อันอาจนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ความไม่ประมาทและการรู้จักหาหนทางป้องกันเป็นวิธีที่สามารถลดความสูญเสียจากไฟดูดได้

ธรรมชาติของกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าที่มีค่าความต้านทานน้อยกว่าเสมอ ตัวอย่างเช่น ระหว่างร่างกายของคนเรากับสายไฟฟ้าที่มีแกนกลางเป็นโลหะนำไฟฟ้า เมื่อเกิดไฟรั่วกระแสไฟจะเลือกที่จะไหลผ่านสายไฟฟ้ามากว่าร่างกายคนเราเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากสายไฟฟ้ามีค่าความต้านทานต่ำกว่าร่างกายของคนเรานั่นเอง
ดังนั้นหนทางที่จะช่วยลดการบาดเจ็บ หรืออันตรายเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วนั้น มีหลักการที่จะไม่ทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไปสัมผัสตรงจุดที่ไฟฟ้ารั่ว ซึ่งวิธีง่าย ๆ คือการต่อตัวนำหรือสายไฟฟ้าจากส่วนที่เป็นตัวนำไฟฟ้าหรือผิวโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งตามปกติจะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านโดยสามารถสัมผัสถูกได้ แล้วต่อสายตัวนำเพื่อนำไฟฟ้าลงสู่ดิน เพื่อเป็นเส้นทางให้กระแสไฟฟ้าที่รั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ไหลลงดิน ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลย้อนกลับไปยังหม้อแปลงไฟฟ้าได้สะดวก เพื่อลดอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดจากการถูกไฟฟ้าดูด หรือไฟช๊อต หลักการนี้เองที่นำมาใช้ในระบบสายดิน และเรียกสายที่นำไฟฟ้าลงสู่ดินว่า "สายดิน"

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2539 การไฟฟ้านครหลวงได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอไฟฟ้ารายใหม่ จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดิน รวมทั้งต้องติดเต้ารับไฟฟ้าทุกตัวให้เป็นเต้ารับไฟฟ้าชนิดที่มีขั้วสายดิน นอกจากนี้ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าเพิ่ม จะต้องมีการต่อระบบสายดินที่เมนสวิตซ์ หรือ อุปกรณ์สำหรับสับปลดวงจรที่มีอยู่ระหว่างสายเมนเข้ากับอาคารกับสายภายใน เป็นอย่างน้อย โดยประกาศดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอีกระดับ ระบบสายดินเพื่อความปลอดภัย หมายถึง ระบบการเดินสานไฟเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นสายดิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใชไฟฟ้า จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนด้วยกัน คือ

1. หลักดิน คือ วัตถุที่ฝังอยู่ในดินที่ทำหน้าที่กระจายประจุไฟฟ้า หรือ กระแสไฟฟ้า ให้ไหลลงดินได้โดยสะดวก
2. สายต่อหลักดิน คือ สายตัวนำที่ใช้ต่อระหว่างหลักดินกับส่วนที่ต้องการต่อลงดิน
3. สายดินของอุปกรณ์ไฟฟ้า คือ สายตัวนำที่ต่อระหว่างขั้วต่อสายดินที่ได้มีการต่อลงดภายในตู้แผงสวิตซ์ประธานไปยังเปลือกโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า และ
4. สายต่อฝาก หรือ สายประสาน เป็น สายตัวนำที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างขั้วต่อสานดิน หรือ ขั้วต่อสายศูนย์ที่มีการต่อลงดิน หรือ ตัวนำที่มีการต่อลงดิน กับวัตถุตัวนำอื่น ๆ ภายในบริเวณเดียวกัน

เพื่อให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพจึงได้มีกฏการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2538 ซึ่งมีสาระสังเขปเกี่ยวกับการติดตั้งระบบสายดินเพื่อความปลอดภัย ไว้ดังนี้

1. ต้องมีการต่อลงดินในสายเส้นที่ไม่มีไฟที่เมนสวิตซ์โดยใช้หลักดินยาว 2.4 เมตร ฝังลงไปในดิน
2. เต้ารับทุกตัวจะต้องมีขั้วสายดินและเดินสานดินจากขั้วของเต้ารับมาต่อลงดินร่วมกับสายเส้นที่ไม่มีไฟที่เมนสวิตซ์
3. ให้ต่อสายดินจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามายังปลั๊กหรือเต้าเสียบที่มีขั้วสายดิน และต้องใช้เต้าเสียนั้นกับเต้ารับชนิดที่มีขั้วสายดินด้วย ในกรณีที่เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช้เต้าเสียบ แต่รับไฟจากสวิตซ์ตัดตอนหรือสวิตซ์อัตโนมัติให้เดินสายดินจากจุดที่ต่อลงดินที่เปลือกของเครื่องใช้ไฟฟ้ามาที่เมนสวิตซ์ แล้วร่วมต่อลงดินกับสายเส้นที่ไม่มีไฟที่ตู้เมนสวิตซ์เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสายดินจะมีสัญลักษณ์ที่แสดงเป็นสากลไว้ในตำแหน่งที่ต้องต่อสายดิน

ส่วนเครื่องไฟฟ้าชนิดที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดินจะต้องมีความหนาของฉนวนไฟฟ้าเป็น 2 เท่าของความหนาปกติ นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กับไฟฟ้าแรงดันไม่เกิน 50 โวลต์ โดยต่อกับหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดพิเศษที่ออกแแบไว้เพื่อความปลอดภัยก็ไม่จำเป็นต้องต่อสายดินเช่นเดียวกัน
สำหรับเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วในระบบที่ไม่มีการต่อระบบสายดินนั้น กระแสไฟฟ้าจะไหลลงดินไม่สะดวก ทำให้เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่ทำงาน นอกจากจะมีไฟฟ้ารั่วในปริมาณที่มากเกินพอเครื่องจึงจะตัดกระแสไฟฟ้า นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าที่ดีควรต้องสามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ภายใน 0.04 วินาที ขณะเดียวกันก็ต้องมีความไวที่ไม่ไวมากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดการตัดกระแสไฟฟ้าอยู่เรื่อยทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า

ดังนั้นการพิจารณาวางระบบสายดินเพื่อความปลอดภัยและการใช้เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าควบคู่กันจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายจากไฟรั่วหรือไฟดูด ทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น
แม้ว่าการติดตั้งระบบสายดินจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าระบบเดิมถึงประมาณร้อยละ 20 ก็ตาม แต่หากเทียบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งประมาณค่ามิได้ เชื่อว่าทุก ๆ ท่านคงยินดีที่จะทำเพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ การไฟฟ้านครหลวง, การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย,
พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ, พ.ศ.2541
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ การไฟฟ้านครหลวง, คู่มือแนะนำการติดตั้งระบบสายดินเพื่อความปลอดภัย,พิมพ์ครั้งที่ 7,รำไพเพรส, กรุงเทพฯ, พ.ศ.2541

จากคุณ Wit-Tha-Ya เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 47 เวลา 0:32:05


รูปภาพ (.gif และ .jpg เท่านั้น) :
คำตอบ :
  ชื่อ :

 

Copyright © 2002-3 All Rights Reserved.  King Mongkut's University of Technology Thonburi